แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่สหภาพแรงงานจะมีสิทธิร้องขอให้ศาลแรงงานพิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของนายจ้างจะทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเดือดร้อนเกินสมควรหรือไม่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 50 วรรคสองนั้น จะต้องเป็นกรณีเกี่ยวกับการประชุมหารือระหว่างนายจ้างกับคณะกรรมการลูกจ้างตามมาตรา 50 วรรคแรก เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องของสหภาพแรงงานเป็นกรณีที่กล่าวหาว่านายจ้างแกล้งกล่าวหาลูกจ้างในข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริงโดยไม่เกี่ยวกับการประชุมแต่อย่างใด จึงไม่ใช่กรณีที่จะร้องต่อศาลแรงงานตามมาตรา 50 วรรคสอง และจะอาศัยมาตรา 50 วรรคสองในฐานะบทบัญญัติใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะนำมาปรับแก่คดีก็ไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ทำเช่นนั้นได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ได้รับคำร้องทุกข์จากสหภาพแรงงานฯ ว่า นายจ้างกระทำการซึ่งลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร คือ นายจ้างได้แกล้งกล่าวหาลูกจ้างในข้อหาที่ไม่เป็นความจริง และได้ตั้งกรรมการขึ้นพยายามหาหลักฐานเพื่อเอาโทษลูกจ้าง แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอจึงได้สร้างหลักฐานที่เป็นเท็จได้หลอกลวงลูกจ้างให้หลงเชื่อเพื่อนำหลักฐานเท็จมาเป็นข้อลงโทษลูกจ้าง คณะกรรมการผู้ร้องพิจารณาแล้วเห็นว่า องค์การนายจ้างจงใจกลั่นแกล้งลูกจ้าง ขอให้ศาลไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งให้องค์การนายจ้างยกเลิกคำสั่งลงโทษลูกจ้าง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า คำร้องของผู้ร้องมิใช่กรณีที่ศาลจะพึงรับไว้พิจารณาตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 50 วรรคสอง มีคำสั่งไม่รับคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 50 อยู่ในหมวด 5 ว่าด้วย “คณะกรรมการลูกจ้าง” บทบัญญัติในหมวดนี้กล่าวถึงการจัดตั้งกรรมการลูกจ้าง จำนวนและระยะเวลาอยู่ในตำแหน่งของกรรมการลูกจ้างการพ้นจากตำแหน่ง ฯลฯ เฉพาะในมาตรา 50 วรรคแรกบัญญัติให้นายจ้างจัดให้มีการประชุมหารือกับคณะกรรมการลูกจ้างอย่างน้อยสามเดือนต่อหนึ่งครั้ง หรือเมื่อกรรมการลูกจ้างกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการลูกจ้างทั้งหมด หรือสหภาพแรงงานร้องขอโดยมีเหตุผลสมควรเพื่อกระทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด ๆ บทบัญญัติในแต่ละมาตราบัญญัติถึงกรณีใดกรณีหนึ่งไว้ในมาตราเดียวกัน หากเป็นกรณีอื่นก็บัญญัติเป็นมาตราใหม่ ฉะนั้น ความในมาตรา 50 วรรคสองที่ว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการลูกจ้างเห็นว่าการกระทำของนายจ้างจะทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร คณะกรรมการลูกจ้าง ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงาน มีสิทธิร้องขอให้ศาลแรงงานพิจารณาวินิจฉัย” จึงต้องเป็นกรณีตามมาตรา 50 นั้นเอง ไม่ใช่เกี่ยวกับกรณีตามหมวดอื่นหรือมาตราอื่น ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏว่า เป็นกรณีที่ผู้ร้องกล่าวหาว่า นายจ้างแกล้งกล่าวหาลูกจ้างในข้อหาที่ไม่เป็นความจริงโดยไม่เกี่ยวกับการประชุมกรรมการลูกจ้างตามมาตรา 50 วรรคแรกแต่อย่างใด ซึ่งไม่ใช่กรณีที่ผู้ร้องจะร้องต่อศาลแรงงานตามมาตรา 50 วรรคสองและผู้ร้องจะอาศัยมาตรา 50 วรรคสองในฐานะบทบัญญัติใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะนำมาปรับแก่คดีของผู้ร้องก็ไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ทำเช่นนั้นได้
พิพากษายืน