คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เป็นบทกฎหมายที่กำหนดการคุ้มครองแรงงานแก่ลูกจ้างเพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปโดยเหมาะสมเป็นกฎหมายคนละส่วนกับพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดถึงความสัมพันธ์รวมทั้งวิธีการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้เป็นไปด้วยวิธีปรองดองและเป็นธรรม ดังนั้นการจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ จึงมิใช่กิจการที่ได้รับยกเว้นมิให้ใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์บังคับเช่นเดียวกับประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรรมการหมู่บ้าน หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยได้ตกลงกับผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านรับหน้าที่จัดหน่วยรักษาความปลอดภัยโดยคิดค่าบริการ โจทก์ตกลงโดยคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้เก็บเงินค่าจ้างส่งมอบต่อหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย ต่อมาการรักษาความปลอดภัยไม่มีประสิทธิภาพ คณะกรรมการจึงลงมติเลิกจ้าง นายชิตกับพวกได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยว่าโจทก์เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายให้นายชิตกับพวก โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว เพราะกรรมการหมู่บ้านมิใช่เป็นนายจ้างเพียงแต่กระทำแทนหมู่บ้าน นายชิตกับพวกมิได้เป็นลูกจ้างของโจทก์ ทั้งปฏิบัติหน้าที่บกพร่องขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์

จำเลยให้การว่า โจทก์ได้ตกลงจ้างนายชิตกับพวกทำหน้าที่เป็นยามรักษาความปลอดภัยโดยจ่ายค่าจ้าง นายชิตกับพวกจึงเป็นลูกจ้างและคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นนายจ้างนายชิตกับพวกร้องเรียนต่อกรมแรงงานว่าโจทก์จ่ายค่าจ้างให้ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โจทก์ทราบเรื่องจึงหาทางเลิกจ้างนายชิตกับพวก จำเลยเห็นว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จึงมีคำสั่งให้คณะกรรมการหมู่บ้านจ่ายค่าเสียหายให้แก่นายชิตกับพวก ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นายชิตกับพวกเป็นลูกจ้างโจทก์ โจทก์เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่นายชิตกับพวกชอบแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่คณะกรรมการหมู่บ้านจ้างนายชิตกับพวกเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัย เป็นการจ้างที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จึงนำพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาใช้บังคับไม่ได้ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงไม่มีอำนาจที่จะชี้ขาดว่าโจทก์เลิกจ้างนายชิตกับพวกเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ พิพากษากลับให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เป็นบทกฎหมายที่กำหนดการคุ้มครองแรงงานแก่ลูกจ้างเพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปโดยเหมาะสม เป็นกฎหมายคนละส่วนกับพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่กำหนดถึงความสัมพันธ์รวมทั้งวิธีการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้เป็นไปด้วยวิธีปรองดองและเป็นธรรม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ได้กำหนดกิจการที่มิให้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานใช้บังคับ คือ 1…….ฯลฯ 2. การจ้างที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ ส่วนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้บัญญัติถึงกิจการที่ยกเว้นมิให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับไว้ในมาตรา 4 ว่า “พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ 1……. ฯลฯ 5. กิจการอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา” พระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ ไม่ใช้บังคับ พ.ศ. 2523 ได้กำหนดไว้เฉพาะกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้น การจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจจึงมิใช่กิจการที่ได้รับยกเว้นมิให้ใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 บังคับ กรณีที่นายชิตกับพวกยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าโจทก์เลิกจ้างเนื่องจากตนได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน อันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 นั้น คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ย่อมมีอำนาจตามมาตรา 125 และ 41 ที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์เลิกจ้างนายชิตกับพวกเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share