คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1652/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งเป็นบริวารของผู้เช่าออกจากตึกแถวที่เช่าเพราะครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว โดยเรียกค่าเสียหายที่ไม่อาจให้ผู้อื่นเช่าได้ค่าเช่าเดือนละ 1,500บาทมาด้วย จำเลยให้การต่อสู้ว่ายังไม่ครบกำหนดเวลาตามสัญญาเช่า และโจทก์ให้จำเลยเช่าต่อจากบิดาจำเลยเป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าหรือผู้อาศัยออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 2,000 บาทจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2518 มาตรา 3จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย และศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาจากพยานหลักฐานในสำนวน
ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 1,000 บาทเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นและเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้จำเลยอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถือว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ถึงแม้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับบิดาจำเลยจะเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทหลังจากสัญญาเช่าครบกำหนดได้
เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับบิดาจำเลยระงับลงตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว โจทก์ผู้ให้เช่าจึงไม่ต้องบอกกล่าวเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 564
หลังจากบิดาจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าถึงแก่กรรม แม้โจทก์ยังเก็บค่าเช่าจากจำเลยและออกใบเสร็จรับเงินให้ แต่ออกให้ในนามของบิดาจำเลย กรณีจึงถือไม่ได้ว่าใบเสร็จรับเงินดังกล่าวเป็นหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือระหว่างโจทก์กับจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถวเลขที่ 1615 ถนนเจริญกรุงแขวงยานนาวา เดิมให้บิดาจำเลยเช่า ต่อมาบิดาจำเลยถึงแก่กรรม จำเลยก็อาศัยอยู่ในตึกดังกล่าวตลอดมา บัดนี้สัญญาเช่าสิ้นอายุและโจทก์ได้บอกเลิกการเช่าแก่จำเลยแล้ว จำเลยไม่ยอมออกจากตึกแถวของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากตึกแถวดังกล่าวส่งมอบตึกแถวในสภาพเรียบร้อยและชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 1,500 บาท จนกว่าจะส่งมอบตึกแถวพิพาทให้โจทก์

จำเลยให้การว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับบิดาจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา และยังไม่ครบกำหนด เมื่อบิดาจำเลยถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยได้เช่าตึกแถวพิพาทตลอดมาโดยโจทก์ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่จำเลยด้วยจำเลยมิใช่ผู้อาศัย การเช่าของจำเลยเป็นการเช่าโดยไม่มีกำหนดเวลา โจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาและไม่ได้รับความเสียหาย

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายครอบครัวและบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาท และให้จำเลยส่งมอบตึกแถวพิพาทในสภาพเรียบร้อยให้โจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 1,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกไปจากตึกแถวพิพาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าหรือผู้อาศัยออกจากอสัหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสองพันบาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสองแก้ไขเพิ่มเติมโดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518มาตรา 3 จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาจากพยานหลักฐานในสำนวน เมื่อสัญญาเช่ามีกำหนดเวลาถึงเพียงวันที่ 1 มกราคม 2521 ถึงสัญญาเช่าดังกล่าวจะเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทภายหลังวันที่ 1 มกราคม 2521 โดยไม่มีสัญญาเช่ากับโจทก์ได้

สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับบิดาจำเลยครบกำหนดในวันที่ 1 มกราคม 2521 ก่อนที่บิดาจำเลยถึงแก่กรรม สัญญาเช่าจึงระงับลงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2521ตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ โดยมิพักต้องบอกกล่าวเลิกสัญญากันก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 564

ที่จำเลยฎีกาว่าภายหลังที่บิดาจำเลยถึงแก่กรรมแล้วโจทก์ยังเก็บค่าเช่าจากจำเลยต่อมาตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.5 ใบเสร็จรับเงินดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือโดยได้ลงลายมือชื่อผู้ให้เช่าซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าแม้โจทก์จะเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินดังกล่าว แต่โจทก์ก็ออกในนามของนายเล็กบิดาจำเลย หาใช่ออกในนามของจำเลยไม่ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.5 เป็นหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือระหว่างโจทก์กับจำเลย

ส่วนประเด็นเรื่องค่าเสียหายนั้น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นและเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้จำเลยอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัยให้ ก็เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถือว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายืน

Share