แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อำนาจขยายหรือให้เลื่อนกำหนดเวลาตามความในมาตรา 3 อัฏฐแห่งประมวลรัษฎากร เป็นอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในอันที่จะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งการโดยเฉพาะ เป็นคนละขั้นตอนกับการที่จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้พิพากษาบังคับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เมื่อตามฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่าคำสั่งของอธิบดีที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาการอุทธรณ์กระทำไม่ชอบหรือผิดกฎหมายอย่างใดอธิบดีกรมสรรพากรจึงมีอำนาจที่จะออกคำสั่งในเรื่องนี้ได้โดยชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับการประเมินภาษีเงินได้ตามแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่ม 3 ฉบับ และหนังสือแจ้งการประเมินอีก 2 ฉบับจากจำเลยโจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมิน จึงได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านภายในอายุอุทธรณ์เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้รับอุทธรณ์ไว้แล้วมีคำสั่งอนุมัติให้ทุเลาการชำระภาษีระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือของจำเลยแจ้งปฏิเสธการรับอุทธรณ์ โดยอ้างว่ายื่นภายหลัง 30 วันพ้นอายุอุทธรณ์แล้ว โจทก์ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ของโจทก์ ได้ความว่าวันที่ 26 ตุลาคม 2522 มีผู้นำหนังสือแจ้งการประเมินไปให้กับบุคคลที่ไม่ใช่ตัวแทนของโจทก์ เมื่อเจ้าหน้าที่ของโจทก์พบเห็นหนังสือดังกล่าว ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2522จึงประทับตรารับลงวันที่ไว้ ด้วยพฤติการณ์ดังกล่าวโจทก์จึงขอให้จำเลยขยายเวลาการอุทธรณ์ไปถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2522 แต่จำเลยไม่ยอมซึ่งเป็นการขัดต่อประมวลรัษฎากรมาตรา 3 อัฏฐ ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยให้ขยายเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์อีก 15 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
จำเลยให้การว่า การส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีการค้า และหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลให้โจทก์ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ พนักงานของโจทก์ลงชื่อรับหนังสือดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2522 ถือได้ว่าโจทก์ได้รับแล้วตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ 11 ธันวาคม 2522 พ้นกำหนด 30 วัน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่รับอุทธรณ์โจทก์ และไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอขยายเวลาได้ การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยรับอุทธรณ์โจทก์ไว้ก็ดีและการอนุมัติให้โจทก์ทุเลาการชำระภาษีก็ดี ไม่เป็นเหตุผูกมัดจำเลยให้ต้องรับอุทธรณ์โจทก์ไว้ดำเนินการ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การจะให้ขยายหรือให้เลื่อนกำหนดเวลาอุทธรณ์ภาษีได้มีบทบัญญัติไว้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 3 อัฏฐ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “กำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการหรือแจ้งรายการต่าง ๆ ก็ดี กำหนดเวลาการอุทธรณ์ก็ดีหรือกำหนดเวลาการเสียภาษีอากรตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรนี้ก็ดี ถ้าผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกำหนดเวลาดังกล่าวมิได้อยู่ในประเทศไทยหรือมีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาได้ เมื่ออธิบดีเห็นเป็นการสมควรจะให้ขยายหรือให้เลื่อนกำหนดเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้
กำหนดเวลาต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรนี้ เมื่อรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรจะขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลานั้นออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้”ตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าอำนาจการขยายหรือให้เลื่อนกำหนดเวลาตามความในมาตรานี้เป้นอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในอันที่จะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งการโดยเฉพาะเป็นคนละขั้นตอนกับการที่จะใช้สิทธิทางศาล เพื่อขอให้พิพากษาบังคับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ตามฟ้องโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าคำสั่งของอธิบดีที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายเวลาการอุทธรณ์ กระทำไม่ชอบหรือผิดกฎหมายอย่างใด อธิบดีกรมสรรพากรจึงมีอำนาจที่จะออกคำสั่งในเรื่องนี้ได้โดยชอบ
พิพากษายืน