แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งระหว่างพิจารณาด้วยวาจา และจำเลยเห็นว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยก็ชอบที่จะคัดค้านคำสั่งเพื่อให้ศาลชั้นต้นจดคำสั่ง และสภาพแห่งการคัดค้านลงไว้ในรายการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 26 จำเลยอ้างมาในอุทธรณ์ว่า ในระหว่างการพิจารณาจำเลยนำเอกสารถามค้านต่อโจทก์ และขอส่งเอกสารนั้นต่อศาล แต่ศาลชั้นต้นไม่รับและไม่อนุญาตให้จำเลยถามค้านเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวคำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อไม่มีคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นหลักฐาน ก็ไม่อาจถือได้ว่ามีคำสั่งของศาลชั้นต้นในอันที่จะอุทธรณ์ฎีกาได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยยืมเงินโจทก์ไปรวม 4 ครั้งเป็นเงิน 11,500 บาทได้ทำหลักฐานไว้เป็นหนังสือ หลังจากยืมเงินโจทก์ไปแล้วจำเลยชำระต้นเงินคืนเพียง 600 บาท คงค้างอยู่ 10,900 บาท จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินที่ค้างกับดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ชำระเงินยืมบางส่วนแล้ว คงค้างชำระเฉพาะเงินยืมตามเอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข 4 เท่านั้น จำเลยไม่ได้ผิดนัดโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย โจทก์ไม่เคยทวงถามขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 10,900 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นไม่รับเอกสารภาพถ่ายท้ายคำแถลงคัดค้านและไม่ให้จำเลยถามค้านเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวไม่ชอบ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นไม่รับฟังเอกสารดังกล่าวชอบแล้วพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาเกี่ยวกับคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า ในชั้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ จำเลยนำเอกสาร 2 ฉบับถามค้านตัวโจทก์และขอส่งเอกสารนั้นต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาแต่ศาลชั้นต้นไม่รับและไม่อนุญาตให้จำเลยถามค้านเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวคำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่พิเคราะห์แล้วไม่ปรากฏหลักฐานในสำนวนว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตามที่จำเลยอ้างแต่ประการใด คงมีแต่แถลงของจำเลยที่โต้แย้งคำสั่งไว้ เห็นว่าหากศาลชั้นต้นมีคำสั่งระหว่างพิจารณาด้วยวาจา และจำเลยเห็นว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยก็ชอบที่จะคัดค้านคำสั่งเพื่อให้ศาลชั้นต้นจดคำสั่งและสภาพแห่งการคัดค้านลงไว้ในรายงาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 26เมื่อไม่มีคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นหลักฐาน กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่ามีคำสั่งของศาลชั้นต้นในอันที่จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ ดังนั้นแม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในเรื่องนี้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์โดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน