คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 775/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารโจทก์โดยมีข้อตกลงว่า ในกรณีที่เอกสารต่าง ๆ ถูกต้องแล้ว ธนาคารโจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบในกรณีสินค้าที่ส่งมาเสียหายขาดจำนวนหรือบกพร่อง และตกลงให้ถือเอาระเบียบประเพณีและพิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเครดิตมีเอกสารประกอบ (แก้ไขเพิ่มเติมปี ค.ศ.1962) ของสภาหอการค้านานาชาติ ซึ่งระบุว่าให้ถือเอาความถูกต้องของเอกสารเป็นหลัก เป็นส่วนหนึ่งของข้อสัญญา เมื่อปรากฏว่าเอกสารต่าง ๆ ที่ส่งมาคือ รายการสินค้าที่ระบุไว้ในใบตราส่ง (BILLSOFLADING) และบัญชีราคาสินค้า(INVOICES) ทุกรายการถูกต้องตรงกับรายการสินค้าในใบเสนอ(OFFER) ซึ่งแนบท้ายเลตเตอร์ออฟเครดิต และบริษัทผู้ขายสินค้าได้เสนอเอกสารต่าง ๆ ถูกต้องตรงตามเงื่อนไขที่ระบุในเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว แม้สินค้านั้นไม่ตรงตามรายการที่ระบุในใบตราส่งบัญชีราคาสินค้าและใบเสนอดังกล่าวก็ตาม จำเลยก็ต้องรับผิดตามข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้
จำเลยทำสัญญาทรัสต์รีซีทสำหรับสินค้าที่ส่งมา โดยแบ่งแยกชำระเป็นงวด ๆ เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดแรกโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดในหนี้ทั้งจำนวนได้
(วรรคแรกวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 5/2524)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าบริษัท น. จำกัดซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการได้ขอให้ธนาคารโจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตชนิดเพิกถอนไม่ได้ ไล่เบี้ยไม่ได้ โดยโจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบในกรณีที่สินค้าที่ส่งมานั้นเสียหายขาดจำนวนหรือบกพร่อง และตกลงให้บังคับตามระเบียบประเพณีและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเครดิตมีเอกสารประกอบของสภาหอการค้านานาชาติ โดยจำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันร่วมรับผิดกับบริษัท น. จำกัด จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และได้นำโฉนดที่ดินมาจำนองเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงิน 15,000,000 บาท หลังจากโจทก์ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้บริษัท น. จำกัดแล้ว บริษัท น. จำกัด ได้โอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 เมื่อสินค้าได้ส่งมายังท่าเรือกรุงเทพฯ แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทให้โจทก์ไว้แล้วไม่ชำระหนี้ตามสัญญา นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและเบิกเงินไปจากโจทก์แล้วไม่ชำระคืน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินรวม 23,488,728.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า สินค้าที่ส่งมาจากต่างประเทศไม่ใช่สินค้าตามที่กำหนดไว้ในใบเสนอ และจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อระงับการจ่ายเงิน ถ้าโจทก์ยังขืนจ่ายเงินให้แก่บริษัทผู้ขายอีก จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิต ส่วนสัญญาทรัสต์รีซีทและสัญญาจำนองเป็นสินค้าเกิดจากการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเช่นเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้เงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 958,938.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกเสีย

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินอีก 22,244,454.71 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ถ้าไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์ที่จำนองเอาเงินชำระหนี้จำนองได้ในต้นเงิน 15,000,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดได้

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาขึ้นมาสาระสำคัญว่า บริษัทผู้ขายปฏิบัติผิดเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยส่งสินค้ามาให้ไม่ถูกต้องตรงตามเงื่อนไขและข้อตกลงในสัญญา ทั้งจำเลยที่ 1 ได้สั่งให้ธนาคารโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยระงับการจ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่เปิดไปแล้ว จำเลยจึงไม่ใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่า ในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตของจำเลยกับธนาคารโจทก์นั้น มีข้อตกลงในเอกสารหมาย จ.11 ว่า ธนาคารโจทก์จะไม่ต้องรับผิดชอบในกรณีที่สินค้าที่ส่งมาเสียหายหรือขาดจำนวนหรือบกพร่องหรือในกรณีที่เอกสารต่าง ๆ ถูกต้องแล้ว ซึ่งคดีนี้ปรากฏว่าเอกสารต่าง ๆ ที่ส่งมาคือ รายการสินค้าที่ระบุในใบตราส่ง (Bills of Lading) และบัญชีราคาสินค้า (Invoices) ทุกรายการถูกต้องตรงกันกับรายการสินค้าในใบเสนอ (offer) ซึ่งแนบท้ายเลตเตอร์ออฟเครดิตและบริษัทผู้ขายได้เสนอเอกสารต่าง ๆ ถูกต้องตรงตามเงื่อนไขที่ระบุในเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว แม้สินค้าที่บริษัทผู้ขายส่งมาให้แก่จำเลยจะไม่ตรงตามรายการที่ระบุในใบตราส่งบัญชีราคาสินค้าและใบเสนอแนบท้ายเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวก็ตาม จำเลยก็ต้องรับผิดตามข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้ ทั้งระเบียบประเพณีและพิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเครดิตมีเอกสารประกอบ (แก้ไขเพิ่มเติมปี ค.ศ. 1962) ของสภาหอการค้านานาชาติ ตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งคู่สัญญาให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่ได้ทำกันไว้ ก็ระบุว่าให้ถือเอาความถูกต้องของเอกสารเป็นหลัก เมื่อเป็นเช่นนี้จำเลยจึงต้องรับผิดตามข้อสัญญาที่ได้ทำไว้

ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าจำเลยจะต้องรับผิดเท่าใด คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาทรัสต์รีซีท 2 ฉบับ สำหรับสินค้าที่ส่งมาและมีกำหนดชำระต่างกัน คือ สำหรับสินค้าที่ส่งมาครั้งแรกจำนวน 35 หีบ เป็นเงิน 67,038.35 เหรียญสหรัฐ และสำหรับสินค้าที่ส่งมาครั้งหลังจำนวน 62 หีบ เป็นเงิน 952,752.90 เหรียญสหรัฐ โดยแบ่งแยกกำหนดชำระเป็นรายปี เริ่มชำระตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2518 เรื่อยมาจนกระทั่งงวดสุดท้ายคือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2524 ในอัตราค่าแลกเปลี่ยน 1 เหรียญต่อ 22.45 บาท (ตามที่โจทก์ขอ) ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระให้ตามงวดดังข้อตกลงในสัญญาทรัสต์รีซีทโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดได้

พิพากษายืน

Share