คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2974/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาปัญหาว่าพนักงานสอบสวนผู้รับคำร้องทุกข์ไว้จะมีอำนาจรับคำร้องทุกข์นั้นหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกับการพิจารณาปัญหาว่าพนักงานสอบสวนผู้นั้นจะมีอำนาจสอบสวนในความผิดเรื่องนั้นด้วยหรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 124 มิได้บังคับให้ร้องทุกข์เฉพาะต่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนเสมอไป เหตุนี้ พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง ซึ่งแม้จะมิได้มีอำนาจทำการสอบสวนในคดีใดเลย ก็ยังมีอำนาจรับคำร้องทุกข์ในคดีนั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาเจริญพาสน์ และสาขาธนบุรี มอบให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ โจทก์นำเช็คไปเบิกเงิน ณ ธนาคารที่กล่าวแล้ว ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้ จำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ฯลฯ เหตุเกิดที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาเจริญพาสน์ ตำบลริรัฐรูจี อำเภอบางยี่เรือ (น่าจะเป็นอำเภอธนบุรี) และที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาธนบุรี ตำบลสมเด็จเจ้าพระยา อำเภอคลองสาน นครหลวงฯ ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม การร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมายคดีของโจทก์จึงขาดอายุความ และปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งจะรับคำร้องทุกข์ต้องเป็นผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายซึ่งถ้าเป็นพนักงานสอบสวน ก็ต้องเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 ความผิดคดีนี้เกิดขึ้นในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางยี่เรือและสถานีตำรวจนครบาลคลองสาน โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ์หรือสำราญราษฎร์ ซึ่งไม่มีอำนาจเกี่ยวกับความผิดที่เกิดขึ้น จึงเป็นการไม่ชอบ เท่ากับไม่มีการร้องทุกข์ คดีของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า กรณีที่จำเลยออกเช็คให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นถือได้ว่าเป็นความผิดที่กระทำต่อเนื่องกันระหว่างสถานที่ที่จำเลยออกเช็คกับสถานที่ที่ธนาคารจ่ายเงิน พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่จำเลยออกเช็คมีอำนาจสอบสวนได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1010/2508 คดีนี้ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยได้ออกเช็คในท้องที่ของสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ์หรือสำราญราษฎร์จริงหรือไม่จะต้องฟังจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบเสียก่อน หากจำเลยได้ออกเช็คในท้องที่ดังกล่าวจริงพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่จำเลยออกเช็คย่อมมีอำนาจสอบสวนและรับคำร้องทุกข์ได้พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาให้เสร็จสิ้นแล้วพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นนี้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้ร้องทุกข์โดยชอบแล้วหรือไม่ แล้ววินิจฉัยต่อไปว่าการพิจารณาปัญหาว่าพนักงานสอบสวนผู้รับคำร้องทุกข์ไว้จะมีอำนาจรับคำร้องทุกข์นั้นหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกับการพิจารณาปัญหาว่าพนักงานสอบสวนผู้นั้นจะมีอำนาจสอบสวนในความผิดนั้นด้วยหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 124ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่รองหรือเหนือพนักงานสอบสวนและเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายก็ได้ และเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้รับคำร้องทุกข์ไว้จะต้องส่งคำร้องทุกข์ไปยังพนักงานสอบสวนจึงเห็นได้ว่า กฎหมายมิได้บังคับให้ร้องทุกข์เฉพาะต่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนเสมอไป โดยเหตุนี้ พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง ซึ่งแม้จะมิได้มีอำนาจทำการสอบสวนในคดีใดเลยก็ยังมีอำนาจรับคำร้องทุกข์ในคดีนั้นได้ ฉะนั้นปัญหาในคดีนี้ที่ว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ์หรือสำราญราษฎร์จะมีอำนาจสอบสวนคดีนี้หรือไม่ จึงไม่สำคัญในการที่จะวินิจฉัยปัญหาว่ามีการร้องทุกข์หรือไม่ หากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลแห่งใดรับคำร้องทุกข์ไว้แล้ว ก็ถือว่าเป็นการร้องทุกข์โดยชอบ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1534/2503

พิพากษายืนในผลแห่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share