คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2720/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้นำโฉนดที่ดินแปลงหนึ่งมาวางศาล เพื่อให้โจทก์รับไปจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีแล้วว่าโจทก์จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน ทั้งโจทก์ยังไม่มีสิทธิในโฉนดคงมีแต่สิทธิเรียกร้องบังคับเอาจากผู้ขายที่ดินให้แก่โจทก์เท่านั้น จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกเพื่อให้ส่งโฉนดฉบับเดียวกันด้วยความประสงค์อย่างเดิม จึงเป็นกรณีที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก และประเด็นวินิจฉัยก็อาศัยเหตุอย่างเดียวกันคือโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยผู้ครองเอกสารส่งโฉนดให้แก่โจทก์ได้หรือไม่ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีในคดีก่อนไว้บริบูรณ์แล้ว ส่วนการบอกกล่าวก่อนฟ้องก็ดี การขอให้เจ้าพนักงานที่ดินเรียกโฉนดจากจำเลยก็ดี หาได้ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่โจทก์ในอันที่จะเรียกร้องเอาโฉนดจากจำเลยได้ไม่ ทั้งมิใช่ข้อสำคัญแห่งคดี และเป็นเพียงส่วนหนึ่งในประเด็นที่ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยส่งโฉนดให้แก่โจทก์หรือไม่นั่นเองฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนหนึ่งในโฉนดเลขที่ 5809 อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เนื้อที่ 125 ไร่ โดยคำพิพากษาของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 5544/2509 เดิมที่ดินแปลงนี้เป็นของนายฉลองซึ่งได้ทำสัญญาขายให้แก่โจทก์ แล้วผิดสัญญาจนโจทก์ได้ฟ้องและศาลได้พิพากษาถึงที่สุดให้โอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ แต่โฉนดเลขที่ 5809 นายฉลองมีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่กับจำเลยทั้งสาม หลังจากศาลแพ่งพิพากษาแล้ว โจทก์ได้ไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี ขอให้เรียกโฉนดที่ดินจากจำเลยทั้งสามเพื่อลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดเจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสามนำส่งโฉนด แต่จำเลยทั้งสามต่างปฏิเสธว่าโฉนดมิได้อยู่ที่ตน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งโฉนด แต่จำเลยทั้งสามต่างปฏิเสธว่าโฉนดมิได้อยู่ที่ตน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งโฉนดเลขที่ 5809 ให้โจทก์ เพื่อนำไปลงชื่อและรังวัดแย่งแยกเฉพาะส่วนของโจทก์ออกไป

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า เจ้าพนักงานที่ดินไม่มีอำนาจเรียกโฉนดจากจำเลยได้ ทั้งโฉนดก็มิได้อยู่ที่จำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โจทก์เคยฟ้องจำเลยในข้อหาเรื่องเดียวกันและศาลได้วินิจฉัยยกฟ้องไปแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ

จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ศาลอนุญาต

ชั้นพิจารณาจำเลยแถลงรับว่า เดิมจำเลยที่ 1 และนายฉลองเป็นสามีภริยากัน แล้วได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันตามคำพิพากษาของศาลแพ่งต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องขอแบ่งสินสมรสคือที่ดินโฉนดเลขที่ 5809 จากนายฉลองซึ่งศาลพิพากษาให้นายฉลองแบ่งที่ดินให้จำเลยที่ 1 เนื้อที่ 250 ไร่นายฉลองได้ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์บางส่วน ส่วนโฉนดจำเลยที่ 1 ได้เอาไปให้นางปวีณาเจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันหนี้ จึงขัดข้องเอาโฉนดมาส่งไม่ได้ และคู่ความรับกันต่อไปว่า โจทก์เคยฟ้องเรียกโฉนดจากจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2734/2510 ของศาลแพ่งมาแล้วจริง คู่ความต่างไม่สืบพยาน โดยขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดไปตามเอกสารที่อ้างประกอบกับข้อเท็จจริงที่แถลงรับนั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โฉนดไม่ได้อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ไม่อาจบังคับให้จำเลยส่งโฉนดได้ การที่จำเลยไม่นำโฉนดไปให้เจ้าพนักงานที่ดินเป็นเรื่องระหว่างเจ้าพนักงานกับจำเลย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายฉลองยอมโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนให้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์ย่อมมีสิทธิให้เจ้าพนักงานลงชื่อถือกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วน แม้โฉนดจะอยู่ที่เจ้าหนี้ของจำเลย จำเลยก็ต้องรับผิด ในคดีก่อนศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดเนื้อหาแห่งคดีที่ฟ้องเป็นคดีนี้ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำพิพากษากลับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันส่งโฉนดเลขที่ 5809 ให้โจทก์เพื่อนำไปให้เจ้าพนักงานที่ดินลงชื่อ

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาเรื่องฟ้องซ้ำไว้ว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2734/2510 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามนี้มาแล้ว โดยขอให้จำเลยนำโฉนดเลขที่ 5809 มาวางศาล เพื่อให้โจทก์รับไปจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วน ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีแล้วว่า โจทก์จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน ทั้งโจทก์ยังไม่มีสิทธิในโฉนดคงมีแต่สิทธิเรียกร้องบังคับเอาจากนายฉลองผู้ขายที่ดินเท่านั้น จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงได้ฟ้องคดีนี้อีก เพื่อให้ส่งโฉนดฉบับเดียวกันด้วยความประสงค์อย่างเดิม พึงเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก และประเด็นวินิจฉัยในคดีก่อนกับคดีนี้ก็ไม่แตกต่างกัน คงอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คือ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ครองเอกสารส่งโฉนดให้แก่โจทก์ได้หรือไม่ ส่วนการบอกกล่าวก่อนฟ้องก็ดี การขอให้เจ้าพนักงานที่ดินเรียกโฉนดจากจำเลยก็ดี หาได้ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่โจทก์ในอันที่จะเรียกร้องเอาโฉนดจากจำเลยได้ไม่ ทั้งมิใช่ข้อสำคัญแห่งคดีและเป็นเพียงส่วนหนึ่งในประเด็นที่ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ส่งโฉนดให้แก่โจทก์ได้หรือไม่นั่นเอง ถึงอย่างไรโจทก์ก็จะแก้ไขความบกพร่องในคดีก่อนด้วย การฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่ได้ คดีนี้เป็นกรณีเดียวกันกับคดีก่อนโดยมิพักต้องสงสัย ดังนั้น กรณีเช่นนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่เป็นฟ้องซ้ำเพราะคดีก่อนมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาแห่งคดีนั้น ยังไม่ถูกต้อง ความจริงศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีในคดีก่อนไว้บริบูรณ์แล้ว

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share