คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2488/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่คู่ความตกลงกันให้ศาลไปตรวจดูที่พิพาท แล้วให้ศาลชี้ขาดตามที่เห็นสมควรโดยคู่ความยินยอมตามที่ศาลชี้ขาดนั้นหาใช่เป็นการตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 ไม่ เพราะศาลยังต้องชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีอีกว่าที่พิพาทควรจะเป็นของใครเพียงใด คดีจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 แต่เมื่อศาลตรวจดูที่พิพาทแล้ว เห็นว่า ไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่าเป็นของฝ่ายใด จึงพิพากษาให้แบ่งที่พิพาทออกเป็นสองส่วน ให้โจทก์จำเลยได้ฝ่ายละส่วน โจทก์จะอุทธรณ์ว่าที่พิพาทมีลักษณะเหมือนของโจทก์ ควรให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้อง ดังนี้หาได้ไม่ เพราะเท่ากับไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดของศาลตามที่ตกลงไว้นั่นเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าคำชี้ขาดของศาลชั้นต้นเป็นไปโดยมิชอบ ศาลสูงก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินสวนยาง 1 แปลง จำเลยได้ร่วมกันตัดฟันจุดเผาต้นยางพารารับเบอร์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ ทำให้ต้นยางพารารับเบอร์ที่กรีดยางได้แล้วเสียหาย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องและให้ใช้ค่าเสียหาย

จำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยที่ 1 ได้แผ้วถางโค่นยางพาราจริงแต่ต้นยางและที่ดินเป็นของจำเลย เดิมเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2ยกให้จำเลยที่ 1

ก่อนสืบพยาน ศาลได้ให้เจ้าพนักงานศาลไปทำแผนที่พิพาท และในวันนัดสืบพยานโจทก์คู่ความตกลงกันให้ศาลไปตรวจดูสถานที่พิพาทและให้ศาลชี้ขาดตามที่เห็นสมควร คู่ความยอมตามที่ศาลชี้ขาดทุกประการ

ศาลชั้นต้นได้ตรวจดูที่พิพาทตามที่คู่ความตกลงกันแล้ว เห็นว่าที่พิพาทไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่าเป็นของคู่ความฝ่ายใด เพราะมีสภาพคล้ายคลึงกันโดยทั่วไป พิพากษาให้แบ่งที่พิพาทออกเป็นสองส่วนตามยาวโดยตัดแบ่งที่เส้นเขตเหนือและใต้ให้มีเนื้อที่เท่ากันให้ที่ซึ่งแบ่งแล้วซีกตะวันออกเป็นของจำเลย ซีกตะวันตกเป็นของโจทก์ ค่าเสียหายให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามสภาพที่ดินเหมือนกับของโจทก์ จึงควรเป็นของโจทก์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีของโจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 จึงให้ยกอุทธรณ์โจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่คู่ความตกลงกันให้ศาลไปตรวจดูที่พิพาทแล้วให้ศาลชี้ขาดตามที่เห็นสมควร โดยคู่ความยินยอมตามที่ศาลชี้ขาดนั้น หาใช่เป็นการตกลงกันหรือประนีประนอมกันในประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 ไม่ เพราะศาลยังต้องชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีอีกว่าที่พิพาทควรจะเป็นของใครเพียงใด คดีของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 แต่การที่คู่ความตกลงกันขอให้ศาลไปตรวจดูสภาพของที่พิพาทและให้ศาลชี้ขาดตามที่ศาลเห็นสมควรโดยคู่ความยอมตามที่ศาลชี้ขาดทุกประการนั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าเมื่อศาลไปตรวจดูสภาพที่พิพาทและชี้ขาดประการใดแล้ว คู่ความยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้นทุกประการ โดยจะไม่โต้แย้งเป็นอย่างอื่น ดังนั้น โจทก์จะโต้เถียงคำชี้ขาดของศาลต่อไปว่าที่พิพาทมีลักษณะเหมือนของโจทก์ ควรให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้องอีกไม่ได้ เพราะเท่ากับไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดของศาลนั่นเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าคำชี้ขาดของศาลชั้นต้นเป็นไปโดยมิชอบ ศาลฎีกาก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่น

พิพากษายืนในผล

Share