คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2450/2516

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำการค้าส่งสินค้าไปต่างประเทศ หากต้องการเงินก่อนส่งสินค้าลงเรือไปให้ลูกค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จะเอาสินค้านั้นมาขายให้แก่โจทก์โดยวิธีเอาใบรับฝากสินค้าที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคลังสินค้าออกให้มาสลักหลังโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์และขอรับเงินค่าสินค้าไป แล้วโจทก์จะแจ้งการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นให้จำเลยที่ 2 ทราบ เมื่อถึงกำหนดจะส่งสินค้าไปให้ลูกค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 1 ก็จะชำระราคาสินค้าให้โจทก์ โจทก์จะสลักหลังใบรับฝากสินค้าคืนให้จำเลยที่ 1 ไป โจทก์และจำเลยทั้งสองปฏิบัติกันเช่นนี้มา 5 ปีแล้ว และจำเลยที่ 2 ยังเคยออกใบรับฝากสินค้าเช่นนี้ให้ลูกค้าคนอื่นอีก ใบรับฝากสินค้าที่จำเลยที่ 2 ออกให้นั้นก็เป็นแบบฟอร์มพิมพ์ไว้ใช้ในกรณีลูกค้าเอาสินค้ามาฝากไว้ ทั้งมีคำเตือนหรือเงื่อนไขว่าบริษัทจะจ่ายสินค้าให้แก่ผู้ฝากก็ต่อเมื่อได้รับคืนใบรับฝากแล้ว การโอนหรือจำนำสินค้าจะต้องแจ้งให้บริษัททราบทุกครั้ง ใบรับฝากสินค้าก็ออกให้ในนามของจำเลยที่ 2 โดยมีวงเล็บ ‘แผนกคลังสินค้า’ ที่โกดังเก็บสินค้าก็มีป้ายบอกว่า คลังสินค้าจำเลยที่ 2 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ปฏิบัติต่อจำเลยที่ 1 และโจทก์เป็นการติดต่อในฐานะนายคลังสินค้าผู้ทำการเก็บรักษาสินค้าเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ ไม่ใช่เป็นการให้เช่าสถานที่เก็บสินค้า แม้จะไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนขออนุญาตประกอบกิจการคลังสินค้าตามกฎหมาย ก็เป็นเรื่องความไม่สมบูรณ์ในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่ได้ร่วมรู้เห็นด้วย จึงไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงจำเลยที่ 1 และโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองและโจทก์ปฏิบัติต่อกันและเข้าใจกันอย่างเช่นจำเลยที่ 2 เป็นนายคลังสินค้าก็ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงกันนำลักษณะเก็บของในคลังสินค้ามาใช้ต่อกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ฝากมันสำปะหลังเส้นไว้กับจำเลยที่ 2ผู้ประกอบกิจการคลังสินค้า แล้วจำเลยที่ 1 นำใบรับฝากสินค้าที่จำเลยที่ 2 ออกให้ มาสลักหลังโอนสินค้าให้โจทก์ และรับเงินไปจากโจทก์ 48 ครั้งรวมเป็นเงิน 2,778,750 บาท โจทก์ได้แจ้งการโอนให้จำเลยที่ 2 ทราบ และห้ามโอนสินค้าให้ผู้อื่น เว้นแต่จะได้รับแจ้งจากโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 2 โอนสินค้าดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ไปบางส่วนโดยมิชอบ ทำให้โจทก์เสียหาย จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้เงิน 2,627,371 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 2 มิได้จดทะเบียนประกอบกิจการคลังสินค้า ไม่ได้รับฝากสินค้าของจำเลยที่ 1 และไม่ได้ออกใบรับสินค้าให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เช่าคลังสินค้าของจำเลยที่ 2 และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยที่ 2 ผู้เดียวอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ 2 มิใช่นายคลังสินค้า แต่พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่า ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า “นอกจากสินค้ามันสำปะหลังตามใบรับฝากสินค้าหมายเลข 69/10 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำใบรับฝากสินค้ามาสลักหลังโอนกรรมสิทธิ์และรับเงินค่าสินค้าไปจากโจทก์อีก 48 ครั้ง ดังปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย 3” นั้น เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมเพราะโจทก์มิได้กล่าวให้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องกับใบรับฝากสินค้าอย่างไร ถ้าเกี่ยวข้อง เกี่ยวข้องในฐานะอะไร จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ถูกต้อง

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่ออ่านคำฟ้องของโจทก์ประกอบกับเอกสารท้ายฟ้องโดยตลอดแล้ว ย่อมเข้าใจได้ว่าใบรับฝากสินค้าที่โจทก์ฟ้องทั้งสิ้นเป็นใบรับฝากสินค้าที่จำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการคลังสินค้าออกให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ฝากสินค้า เมื่อจำเลยที่ 1 สลักหลังโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ โจทก์ได้แจ้งการโอนให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว จำเลยที่ 1 กลับมาขนสินค้าของโจทก์ดังกล่าวไป จำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วหาเคลือบคลุมไม่

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มิได้ทำการเก็บรักษาสินค้าของจำเลยที่ 1 เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 นำสินค้ามาไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 2 โดยการเช่าสถานที่ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดนั้น

เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ทำการค้าส่งวัตถุดิบจากประเทศไทยไปต่างประเทศ ในการค้าส่งวัตถุดิบดังกล่าว จำเลยที่ 1 เคยติดต่อกับโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ต้องการเงินก่อนส่งสินค้าลงเรือไปให้ลูกค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จะเอาสินค้านั้นมาขายให้กับโจทก์โดยวิธีเอาใบรับฝากสินค้าที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคลังสินค้าออกให้มาสลักหลังโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ และขอรับเงินค่าสินค้าไปแล้วโจทก์จะแจ้งการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นให้จำเลยที่ 2 ทราบ เมื่อถึงกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะส่งสินค้าไปให้ลูกค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 1 ก็จะชำระราคาสินค้าให้โจทก์ โจทก์ก็จะสลักหลังไปรับฝากสินค้าคืนให้จำเลยที่ 1 ไป โจทก์และจำเลยทั้งสองปฏิบัติกันมาเช่นนี้เป็นเวลา 5 ปีแล้ว และโจทก์นำสืบว่านอกจากจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 เคยออกใบรับฝากสินค้า เช่นกรณีนี้ให้กับบริษัทอินทนนท์ จำกัด ซึ่งเคยฝากสินค้าไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 2 ในนามธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด และยังเคยออกใบรับฝากสินค้าให้ลูกค้าคนอื่นอีก เอกสารใบรับฝากสินค้าที่จำเลยที่ 2 ออกให้นั้นก็เป็นแบบฟอร์มพิมพ์ไว้ใช้ในกรณีลูกค้าเอาสินค้ามาฝากไว้ ทั้งมีคำเตือนหรือเงื่อนไขในตอนท้ายว่า บริษัทจะจ่ายสินค้าให้กับผู้ฝากก็ต่อเมื่อได้รับคืนใบรับฝากแล้ว การโอนหรือจำนำสินค้าจะต้องแจ้งให้บริษัททราบทุกครั้ง ใบรับฝากสินค้าออกให้ในนามของจำเลยที่ 2 มีวงเล็บ “แผนกคลังสินค้า” ที่โกดังเก็บสินค้าหรือคลังสินค้าของจำเลยที่ 2 ก็มีป้ายขนาดใหญ่ว่า “คลังสินค้าบริษัท เอส. อาร์. บราเดอร์ จำกัด” นายย่วยทงผู้จัดการแผนกคลังสินค้าของจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่าใบรับฝากสินค้านี้อาจนำไปใช้โอนให้แก่บุคคลภายนอกได้ นอกจากนี้โจทก์ยังมีเอกสารหมาย จ.65 ซึ่งเป็นหนังสือของโจทก์ถึงจำเลยที่ 2 แสดงถึงการแจ้งปล่อยสินค้าตามใบรับฝากสินค้าที่จำเลยที่ 1 สลักหลังให้โจทก์ไว้ และต่อมาได้ชำระราคาแล้วเป็นพยาน ประกอบกับเมื่อเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ลอบมารับสินค้าไปแล้ว จำเลยที่ 2 ได้ยอมมอบสินค้าที่เหลือให้โจทก์รับไปโดยวิธีสลักหลังเวนคืนใบรับฝากสินค้า ซึ่งหากเป็นการเช่าสถานที่เก็บสินค้าดังที่จำเลยต่อสู้แล้วจำเลยที่ 2 ก็ไม่น่าจะยินยอมให้โจทก์รับสินค้าดังกล่าวไป พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวมาแล้วประกอบกัน ศาลฎีกาเชื่อว่าพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ปฏิบัติต่อจำเลยที่ 1 และที่ติดต่อกับโจทก์เป็นการติดต่อในฐานะนายคลังสินค้าผู้ทำการเก็บรักษาสินค้าเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ หาใช่เป็นการให้เช่าสถานที่ดังที่จำเลยที่ 2 อ้างไม่ ข้อที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าใบรับฝากสินค้าพิพาทออกมาโดยผู้ไม่มีอำนาจ และไม่สุจริตนั้นก็ยังเลื่อนลอยไม่พอรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้

เมื่อฟังว่าพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ปฏิบัติต่อจำเลยที่ 1 และกับโจทก์เป็นไปในฐานะนายคลังสินค้าแล้ว แม้จะไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนขออนุญาตประกอบกิจการคลังสินค้าตามกฎหมายดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาก็ตาม แต่การไม่จดทะเบียนนั้นเป็นเรื่องความสมบูรณ์ในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 2 แม้ไม่สมบูรณ์ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้ร่วมรู้เห็นด้วย จึงหามีผลกระทบกระเทือนถึงจำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่ เมื่อพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองและโจทก์ปฏิบัติต่อกันและเข้าใจกันอย่างเช่น จำเลยที่ 2 เป็นนายคลังสินค้า ก็ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงกันนำลักษณะเก็บของในคลังสินค้ามาใช้ต่อกัน ย่อมนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยลักษณะเก็บของในคลังสินค้ามาใช้บังคับในกรณีนี้ได้ กรณีหาใช่เป็นเรื่องฝากทรัพย์ธรรมดา ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบตามเอกสารหมาย จ.52 ถึง จ.64 ว่า จำเลยที่ 1 ได้สลักหลังโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าตามรายการในเอกสารดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว ให้จำเลยที่ 2 เก็บรักษาสินค้านั้นไว้ในนามโจทก์ ห้ามส่งมอบแก่ผู้อื่น นอกจากได้รับอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษร และปรากฎว่าโจทก์ได้ส่งเอกสารห้ามการส่งมอบสินค้าไปยังจำเลยที่ 2 แล้วโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน จึงเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้รับทราบเอกสารห้ามการส่งมอบสินค้าดังกล่าวแล้ว ที่จำเลยที่ 2 ยอมมอบสินค้าให้จำเลยที่ 1 ไป โดยมิได้มีการเวนคืนใบรับฝากสินค้าหรือได้รับอนุมัติจากโจทก์ดังกล่าวแล้ว ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ไม่ชอบที่จะกระทำได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 771, 665 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ในผลของคำพิพากษา

พิพากษายืน

Share