แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้รับโอนที่ดินซึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ย่อมมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ที่จะขอผ่านทางที่สะดวกและใกล้ทางสาธารณะเหมาะสมกับความจำเป็นกว่าทางอื่น ซึ่งเจ้าของที่ดินผู้โอนเคยใช้มาก่อน
กฎหมายมิได้บังคับว่าผู้ร้องขอใช้ทางจำเป็นต้องเสนอขอจ่ายค่าทดแทนความเสียหายให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่มาด้วย แม้โจทก์จะขอใช้ทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยโดยไม่ได้ขอจ่ายค่าทดแทนแต่โจทก์ก็ไม่ได้ปฏิเสธจะไม่จ่าย และจำเลยก็ยังมีสิทธิเรียกร้องเอาได้จึงไม่เป็นเหตุที่จะบังคับให้ตามคำขอของโจทก์ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะที่ดินของจำเลยอยู่ติดทางสาธารณะทางทิศใต้ของที่ดินโจทก์ จำเลยเคยยอมให้โจทก์เดินผ่านไปออกทางสาธารณะเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยได้ขุดทางเดินเอาต้นไม้มาปลูก ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อน จึงขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยเปิดทางให้โจทก์เดินอย่างเดิมและห้ามปลูกพืชผลตามทางเดินนั้น
จำเลยให้การว่า ทางเดินตามที่โจทก์ฟ้องกว้างเพียง 1 ศอกเท่านั้นโจทก์ได้อาศัยเดินไปตักน้ำบ่อกินในที่ดินของจำเลย เมื่อประมาณปีเศษมานี้โจทก์ได้ขุดบ่อน้ำของโจทก์แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำในบ่อของจำเลยอีกต่อไป ที่ดินของโจทก์ โจทก์เพิ่งซื้อจากนายเกตุ เมื่อประมาณปีเศษมานี้ เดิมโจทก์เช่าจากนายเกตุปลูกลูกยาและผักขาย โจทก์อยู่ในที่บ้านของโจทก์ไม่ถึง 10 ปี ไม่ได้สิทธิภารจำยอมในที่ดินของจำเลย ทางเดินดังกล่าว โจทก์อาศัยเดินโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยจึงมีสิทธิเลิกเสียเมื่อใดก็ได้ ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าที่ดินของโจทก์อยู่ในที่ล้อมของที่ดินแปลงอื่น ทางในที่ดินของจำเลยซึ่งโจทก์ใช้เข้าออกไปสู่ถนนสาธารณะ ถือได้ว่าเป็นทางจำเป็น และโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทนี้มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ทางพิพาทจึงเป็นทางภารจำยอม พิพากษาให้จำเลยเปิดทางให้โจทก์อย่างเดิม (กว้าง 6 ศอก) และห้ามปลูกพืชผลตามทางเดินนั้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ไม่ใช่ทางภารจำยอม และให้เปิดทางให้โจทก์กว้าง 3 ศอกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 2 ศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องของโจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาข้อแรกของจำเลยมีว่าเมื่อที่ดินยังเป็นของนายเกตุ นายเกตุได้ใช้ทางด้านทิศเหนือเดินลัดเลาะผ่านที่ดินของนายทุยและนางลูกอินทร์ไปออกทางสาธารณะ โจทก์ผู้รับโอนที่ดินมาจากนายเกตุจะต้องใช้ทางเดินนั้น จะมาขอใหม่ไม่ได้ เพราะโจทก์ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่านายเกตุผู้โอน ศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องนี้จะนำเอาหลักกฎหมายที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้ปรับไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิในทรัพย์ที่รับโอนมาเพียงใด ที่จำเลยว่านายเกตุได้ใช้ทางด้านทิศเหนือเดินผ่านที่ดินของนายทุยและนางลูกอินทร์ไปออกทางสาธารณะ จำเลยก็ไม่ได้อ้างว่า นายเกตุมีสิทธิอย่างไรในทางดังกล่าวนั้น และสิทธินั้นได้โอนมายังโจทก์พร้อมกับที่ดินหรือไม่เพียงใด จึงถือได้ว่าที่ดินของโจทก์ยังไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ย่อมมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ที่จะขอผ่านที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นทางที่สะดวกและใกล้ทางสาธารณะ เหมาะสมกับความจำเป็นกว่าทางอื่น ซึ่งนายเกตุได้เคยใช้มา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของจำเลยอีกข้อหนึ่งที่ว่าโจทก์ขอใช้ทางเดินตามสิทธิที่ได้ครอบครองมา (หมายถึงภารจำยอม) ไม่ได้ตั้งใจขอสิทธิที่ไม่มีทางออก(ทางจำเป็น) ศาลจะพิพากษาให้ไม่ได้นั้น ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องของโจทก์ได้กล่าวอ้างถึงสิทธิของโจทก์มาทั้งในทางจำเป็นและในภารจำยอม เมื่อศาลชั้นต้นฟังว่าทางพิพาทเป็นทั้งทางจำเป็นและทางภารจำยอม จำเลยก็ได้อุทธรณ์คัดค้านรวมมาทั้งสองประเด็น ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิพากษาถึงสิทธิของโจทก์ในทางจำเป็นได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้ขอจ่ายเงินค่าที่ดินที่ขอใช้ให้แก่จำเลย ศาลอุทธรณ์ไม่ควรพิพากษาให้สิทธิแก่โจทก์ในทางจำเป็นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าในเรื่องค่าทดแทนความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนี้ไม่มีบทกฎหมายบังคับว่าเมื่อผู้มีสิทธิจะผ่านร้องขอต่อศาล จะต้องเสนอขอจ่ายค่าทดแทนความเสียหายให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่มาพร้อมกับคำขอด้วย คดีนี้แม้โจทก์จะไม่ได้ขอจ่ายค่าทดแทนมาในฟ้อง แต่โจทก์ไม่ได้ปฏิเสธที่จะจ่าย ไม่มีเหตุที่จะบังคับให้ไม่ได้ ทั้งจำเลยก็ไม่ได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่ศาลไม่ได้สั่งให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนเสียในคดีนี้ เนื่องจากจำเลยยังมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาได้อยู่ ศาลอุทธรณ์ย่อมพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ได้”
พิพากษายืน