คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1133/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพลาธิการกองพลทหารม้า สั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพลขับและสังกัดอยู่ในกองพลเดียวกัน ขับรถยนต์ของทางราชการกองพลทหารม้าไปขนปูนซิเมนต์ให้วัดซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการวัดอยู่ด้วย กิจการดังกล่าวมิใช่ราชการของกองทัพบกจำเลยที่ 3 ทั้งมิได้เกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1 แต่ประการใด ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่2 เป็นตัวการ และจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในกิจการนี้โดยปริยาย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กลับกองพลทหารม้าได้ชนรถยนต์โจทก์เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวการย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ทำไปนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 820 (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 32/2515)
แม้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จะเป็นข้าราชการทหารสังกัดอยู่ในกองพลทหารม้าซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของกองทัพบกจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่การขนปูนซิเมนต์ดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ 2 มิได้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 3 แต่อย่างไร การใช้รถยนต์ของทางราชการก็ดี การเติมน้ำมันของทางราชการก็ดี หาทำให้กิจการส่วนตัวจำเลยที่ 2 กลายเป็นงานราชการของจำเลยที่ 3 ไปไม่ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่โจทก์
ในเรื่องค่าเสื่อมราคารถยนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้นั้น แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาก็ตาม เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรลดจำนวนค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ฎีกา ศาลฎีกาอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 245(1),247 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พิพากษาให้จำเลยที่ 1รับผิดเท่ากับจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นทหารประจำกองพลทหารม้า กองทัพบก กระทรวงกลาโหม อยู่ในบังคับบัญชาโดยตรงของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีหน้าที่เป็นพลขับ จำเลยที่ 2 เป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ของราชการกองพลทหารม้าโดยคำสั่งของจำเลยที่ 2 ไปขนปูนซิเมนต์ที่ท่าสาธุประดิษฐ์ไปส่งที่วัดนครป่าหมากเสร็จงานแล้วจำเลยที่ 1 ขับรถกลับกองพลทหารม้าด้วยความประมาท ชนรถยนต์แท็กซี่และรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับได้พุ่งเข้าชนรถยนต์ของโจทก์พังเสียหาย โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจสั่งการให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติได้ จำเลยที่ 2 ไม่ได้สั่งให้จำเลยที่ 1 นำรถไปขนปูนซิเมนต์ดังฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถโดยประมาท เหตุเกิดเพราะความประมาทของนายเฉลิมคนขับรถแท็กซี่ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ต้องรับผิด โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายสูงเกินกว่าความจริง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในผลการละเมิดของจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า การที่จำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปขนปูนซิเมนต์ให้วัดนครป่าหมากซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการวัดและกิจการดังกล่าวมิใช่เป็นราชการของกองทัพบกจำเลยที่ 3 ทั้งมิได้เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 แต่ประการใดนั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการ และจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในกิจการนี้โดยปริยาย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปขนปูนซิเมนต์ให้วัดนครป่าหมากแล้วระหว่างขับรถยนต์กลับกองพลทหารม้า ได้ชนรถยนต์โจทก์เสียหายจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ทำไปนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 820

แม้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จะเป็นข้าราชการทหาร สังกัดอยู่ในกองพลทหารม้าซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่การขนปูนซิเมนต์เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ซึ่งปฏิบัติไปในฐานะเป็นกรรมการของวัดนครป่าหมาก มิได้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางราชการของจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด การใช้รถยนต์ของราชการก็ดี การเติมน้ำมันของทางราชการก็ดี หาทำให้กิจการส่วนตัวของจำเลยที่ 2 กลายเป็นงานราชการของจำเลยที่ 3 ไปไม่ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่โจทก์

ในเรื่องเสื่อมราคารถยนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้นั้น แม้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาก็ตาม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 245 (1), 247 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เพียง 5,000 บาทเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลละเมิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา เว้นแต่ในเรื่องค่าเสื่อมราคารถยนต์ของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองรับผิดเพียง 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share