คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 783/2516

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากตึกที่ให้โจทก์เช่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าสัญญาเช่าไม่สมบูรณ์ให้ขับไล่โจทก์ โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ทุเลาการบังคับคดีต่อมาศาลฎีกาพิพากษาว่าสัญญาเช่าสมบูรณ์ แต่โจทก์เข้าครอบครองตึกที่เช่าไม่ได้ เพราะจำเลยได้รื้อเสียแล้วเช่นนี้ จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ เพราะการชำระหนี้ตามสัญญาเช่าเป็นอันพ้นวิสัย
จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากทรัพย์ที่ให้โจทก์เช่า และเรียกค่าเช่ากับค่าเสียหาย ศาลพิพากษาถึงที่สุด ให้ยกคำขอในฟ้องของจำเลยที่ให้ขับไล่โจทก์และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย โจทก์มาฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาเช่า ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากทรัพย์ที่เช่าในระหว่างเป็นความกันในคดีก่อนได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2504 โจทก์ได้เช่าตึกแถวสองชั้นกับโรงไม้ซึ่งติดกับตึก และห้องแถวไม้สองชั้นเลขที่ 10, 12, 14, 16, 18, 20 และ 22 ในที่ดินโฉนดที่ 2823 ตำบลยานนาวา อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร ไว้จากตัวแทนของเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต มีกำหนด 10 ปี (ที่ถูกเป็น 11 ปี) โดยได้จดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2507 จำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ให้ออกจากตึกและห้องแถวดังกล่าว โดยอ้างว่าได้รับมรดกทรัพย์ดังกล่าวจากเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต และสัญญาเช่าของจำเลยไม่ได้จดทะเบียน จึงมีอายุการเช่าเพียง 3 ปีเท่านั้นตามคดีศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 121/2508 ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาว่าสัญญาเช่านั้นได้มีการจดทะเบียน และยังไม่ครบกำหนดการเช่าให้ยกคำขอของจำเลยที่ให้ขับไล่โจทก์ ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวจำเลยได้เข้าเก็บค่าเช่าห้องแถวไม้ทั้ง 7 ห้อง ๆ ละ 50 บาท ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2507 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 60 เดือน เป็นเงิน 21,000 บาท และเมื่อคิดถึงวันที่ครบกำหนดสัญญาเช่าคือวันที่ 1 มกราคม 2515 เป็นเวลาอีก 2 ปี 11 เดือน คิดเป็นเงิน 12,250 บาทรวมเป็นเงินค่าเช่าทั้งสิ้น 33,250 บาท สำหรับตึกแถวและโรงไม้นั้น จำเลยได้รื้อออกตั้งแต่เดือนมีนาคม 2509 ทำให้โจทก์ขาดรายได้ซึ่งเคยได้รับจากการให้เช่าโรงไม้ดังกล่าวเดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันรื้อจนครบสัญญาเช่าเป็นเวลา 5 ปี 10 เดือน เป็นเงิน 105,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าห้องแถวไม้รวม 33,000 บาท และค่าเช่าโรงไม้รวม 105,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินทั้งสองจำนวนนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2507 และมีนาคม 2509 ตามลำดับ จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ และให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์

จำเลยให้การว่า เดิมนายประพาส ศิริโสภณา พี่ชายโจทก์กับโจทก์ได้เช่าตึกเลขที่ 7 กับที่ดินที่ติดต่อกับตัวตึกจากตัวแทนของเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต แล้วปลูกห้องแถวไม้ตามฟ้องขึ้น 7 ห้องเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว สิ่งต่อเติมตึกเลขที่ 7 และห้องแถวไม้ดังกล่าวตกเป็นของเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิตทั้งหมด โดยโจทก์และพี่ชายโจทก์เป็นผู้เช่าต่อมา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2504 เจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิตถึงแก่อนิจกรรม ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตกได้แก่จำเลยตามพินัยกรรม โจทก์กับนายประพาส ศิริโสภณาผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าตามกำหนด ผู้จัดการมรดกของเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิตจึงฟ้องขับไล่โจทก์กับนายประพาส ศิริโสภณา ปรากฏว่าทั้งสองคนขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลพิพากษาให้ขับไล่โจทก์และนายประพาส ศิริโสภณา ออกจากตึกและห้องแถวดังกล่าวตามคดีหมายเลขแดงที่ 3628/2504 ของศาลแพ่ง นายประพาส ศิริโสภณาได้มอบห้องแถวไม้คืนแก่จำเลย ผู้เช่าห้องแถวไม้ได้ยอมชำระค่าเช่าที่ค้างบางส่วนให้จำเลย จำเลยจึงให้เช่าต่อมาคดีดังกล่าวนี้ได้ถึงที่สุดแล้ว สำหรับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 121/2508 ของศาลแพ่งนั้นจำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ให้ออกจากตึกเลขที่ 7 กับโรงไม้ที่ติดกับตึกเท่านั้น ศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ขับไล่โจทก์ โจทก์ฎีกาและขอทุเลาการบังคับ ศาลฎีกาไม่อนุญาต โจทก์จึงได้ขนย้ายออกไป จำเลยเห็นว่าตึกหลังนั้นทรุดโทรมมาก จึงได้รื้อออกและปลูกตึกแถวสองชั้นครึ่งขึ้นใหม่ การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายโดยสุจริต โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยมิได้หากโจทก์จะเสียหายก็ไม่เกินเดือนละ 100 บาท เพราะตึกชำรุดทรุดโทรมจะให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 100 บาท ส่วนดอกเบี้ยโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกได้ ถ้าหากเรียกได้ก็ไม่เกิน 5 ปี ทั้งโจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยละเมิดเมื่อเกิน 1 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 นอกจากนั้น ฟ้องโจทก์ยังเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3628/2504 และหมายเลขแดงที่ 121/2508 ของศาลแพ่ง ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย

ต่อมาจำเลยได้ร้องขอให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมวินิจฉัยในคำพิพากษา

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความแถลงรับกันว่า สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่โจทก์เช่าจากจำเลยนั้น จำเลยรื้อและปลูกสร้างใหม่หมดแล้วเรื่องค่าเสียหายนั้นหากจำเลยต้องรับผิด จำเลยยอมชดใช้ให้เป็นเงิน 80,000 บาท และโจทก์ตกลงไม่เรียกดอกเบี้ยอีก คู่ความต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีไปตามคำฟ้องคำให้การคำแถลงรับและข้อตกลงของคู่ความ รวมทั้งข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏอยู่ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 121/2508 ของศาลแพ่ง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นตามคำร้องขอของจำเลยว่า โจทก์ไม่จำต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 3628/2504 เพราะโจทก์ในคดีนั้นไม่ติดใจให้ศาลบังคับคดีต่อไป เนื่องจากโจทก์ในคดีนี้ได้ทำสัญญาเช่าใหม่กับตัวแทนของเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิตแล้ว คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 3628/2504 และคดีหมายเลขแดงที่ 121/2508 ส่วนประเด็นค่าเสียหายอันเป็นประเด็นแห่งคดีโดยตรงนั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่จะเข้าครอบครองหาประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่า การที่จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไปทำให้สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องที่จะบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาได้ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 80,000 บาท และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนาย 800 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่ตกลงกัน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีแล้ว เห็นว่าคดีไม่จำต้องฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาตามที่คู่ความขอ จึงให้งด

คดีนี้คู่ความไม่สืบพยาน แต่ให้ศาลวินิจฉัยตามคำฟ้องคำให้การ คำแถลงรับของคู่ความและข้อเท็จจริงตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 121/2508 ของศาลแพ่ง

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 121/2508 แล้วปรากฏว่าคดีนั้นจำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์ ในคดีนี้เป็นจำเลยให้ออกจากตึกแถวเลขที่ 7 และให้โจทก์ชำระค่าเช่าตึกแถวดังกล่าวพร้อมด้วยค่าเช่าห้องแถวไม้ 7 ห้องรวมเป็นเงิน 10,800 บาท โจทก์ต่อสู้ว่า ได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวและห้องแถวไม้จากตัวแทนของเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต และได้จดทะเบียนสัญญาเช่าแล้ว ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2504 มีกำหนด 11 ปี ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันว่าเป็นการจดทะเบียนโดยไม่มีอำนาจและไม่สุจริต ให้ขับไล่โจทก์ออกไปจากตึกพิพาทและให้ใช้ค่าเช่าที่ค้างพร้อมทั้งดอกเบี้ย โจทก์ฎีกาและขอทุเลาการบังคับ ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับ โจทก์และบริวารจึงออกจากตึกพิพาทไป อย่างไรก็ดี ต่อมาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การจดทะเบียนสัญญาเช่าระหว่างตัวแทนเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต กับโจทก์สมบูรณ์ แม้จะทำภายหลังที่เจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิตถึงแก่กรรม เพราะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของตัวการให้สัญญาเช่ามีผลสมบูรณ์ตามความมุ่งหมายของคู่สัญญา จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกคำขอของจำเลยที่ขอให้ขับไล่โจทก์และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายนั้นเสีย แต่โจทก์เข้าครอบครองทรัพย์พิพาทไม่ได้ เพราะจำเลยได้รื้อสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดและทำการปลูกสร้างใหม่แล้ว โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้เรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ขาดประโยชน์ในการให้เช่าตึกเลขที่ 7 และโรงไม้ติดกับตึกและห้องแถวไม้ทั้ง 7 ห้องดังกล่าว

ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ฎีกาของจำเลยแล้ว จำเลยฎีกาว่า โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายมิได้ เพราะการที่จำเลยรื้อตึกพิพาทนั้นเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง และศาลอุทธรณ์ ที่พิพากษาให้ขับไล่โจทก์และศาลฎีกาก็ไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ในคดีก่อน จำเลยจะชนะคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 231 วรรคแรกประกอบด้วย มาตรา 247 นั้น การยื่นอุทธรณ์ฎีกาย่อมไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตามย่อมต้องหมายความว่าในกรณีที่ศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลดังกล่าวทั้งสอง จำเลยในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็จะต้องพร้อมที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาได้เสมอถ้าการชำระหนี้นั้นกลายเป็นการพ้นวิสัยจะทำได้เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลย ต้องรับผิดชอบจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ย่อมจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่เจ้าหนี้เพื่อค่าเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 218 ถ้าหากจะถือว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดเสียเลยดังที่จำเลยฎีกา ก็เท่ากับถือว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ถึงที่สุด และคำพิพากษาศาลฎีกาไร้ความหมายโดยสิ้นเชิงด้วยเหตุนี้ เมื่อศาลฎีกาพิพากษาในคดีก่อนว่า โจทก์มีสิทธิตามสัญญาเช่าจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2515 โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากสัญญาเช่านั้นได้ กล่าวคือ เข้าครอบครองใช้สิทธิในทรัพย์ที่เช่า หรือให้เช่าช่วงก็ได้ การที่โจทก์ไม่สามารถหาประโยชน์จากทรัพย์ที่เช่าได้ เพราะจำเลยได้รื้อถอนเสียแล้วเช่นนี้ จำเลยย่อมต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เพราะการชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นการพ้นวิสัยโดยที่จำเลยในฐานะผู้ให้เช่าไม่สามารถส่งมอบทรัพย์ที่เช่าให้แก่ผู้เช่าคือโจทก์ได้

ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1143/2494 ระหว่างนายขับ สุสิคงโจทก์ กับนายเฉื้อง กาเยาว์ จำเลย ซึ่งจำเลยอ้างประกอบข้อฎีกาของจำเลยนั้นเป็นเรื่องซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด แม้ต่อมาจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นประการอื่น ก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำดังกล่าวเป็นการผิดกฎหมาย จึงไม่เป็นละเมิด แต่คดีเรื่องนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยทำให้การชำระหนี้ตามสัญญาเป็นการพ้นวิสัย เป็นเรื่องฟ้องร้องโดยอาศัยมูลสัญญา และมิใช่มูลละเมิดจึงเป็นคนละเรื่องกัน จะนำคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1143/2494 มาปรับกับคดีนี้ไม่ได้

จำเลยฎีกาต่อไปว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยในหนี้ที่เกิดจากมูลละเมิด แต่โจทก์ฟ้องภายหลัง 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ถึงการละเมิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าช่วงจากโจทก์ ทั้ง ๆที่สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิตยังไม่ครบกำหนด เท่ากับฟ้องว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่าดังกล่าว คือ ไม่ให้โจทก์เก็บค่าเช่าจากผู้เช่าช่วงจนครบกำหนดตามสัญญาเช่าดังกล่าว จึงเป็นเรื่องฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยผิดสัญญาเช่า หาใช่เรื่องละเมิดไม่ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

จำเลยฎีกาต่อไปว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 121/2508 ศาลฎีกาเห็นว่า คดีหมายเลขแดงที่ 121/2508 จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากตึกเลขที่ 7 และเรียกค่าเช่าที่ค้างกับค่าเสียหาย แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาเช่า ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการให้เช่าช่วงตึกและห้องแถว ประเด็นแห่งคดีที่จะต้องวินิจฉัยจึงเป็นคนละประเด็น ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

จำเลยฎีกาด้วยว่า โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากจำเลยไม่อาจให้โจทก์ใช้ทรัพย์สินที่โจทก์เช่าหาผลประโยชน์ ให้ครบตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าและโจทก์ไม่ได้ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าทำให้โจทก์เสียหาย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าฟ้องโจทก์มีมูลมาจากการที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาเช่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายไว้ในฟ้องแล้วว่า เนื่องจากจำเลยได้ทำสัญญาเช่าใหม่กับผู้เช่า ทำให้โจทก์ไม่สามารถเก็บค่าเช่าต่อไปจนครบสัญญาและการที่จำเลยเข้ารื้อตึกแถวกับโรงไม้ซึ่งติดกับตัวตึกนั้น ทำให้โจทก์เสียหาย ขาดรายได้ค่าเช่าอันควรพึงได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2509 จนครบสัญญา เช่นนี้ ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดเกี่ยวกับสัญญาเช่าเป็นสารสำคัญ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์มีมูลมาจากการที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญานั้น เป็นเพียงการปรับคำฟ้องของโจทก์ว่าจะเข้ากับบทกฎหมายลักษณะใด เป็นการปรับบทกฎหมาย ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นทุกข้อ

พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 600 บาท

Share