คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 589/2516

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้โจทก์ โดยไม่ได้ลงวันที่โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังเช็ค ต่อมาจำเลยที่ 1 บอกให้โจทก์ลงวันที่ในเช็คเพื่อเบิกเงินในวันที่ 8 มกราคม 2512 ดังนี้ การที่โจทก์ลงวันที่ในเช็คแล้วนำเช็คไปเข้าบัญชีธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คในวันที่ 8 มกราคม 2512 จึงเป็นการจดวันที่ถูกต้องลงในเช็คโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่าบัญชีของจำเลยปิดแล้วจำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดตามเช็คนั้น แม้จะฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อโจทก์รับเช็คโจทก์ทราบว่าธนาคารได้ปิดบัญชีกับจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็จะปฏิเสธความรับผิดตามเช็คนั้นหาได้ไม่ และแม้จำเลยที่ 2 จะมิได้เกี่ยวข้องรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ลงวันที่ในเช็คจำเลยที่ 2. ก็ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย

ย่อยาว

จำเลยทั้งสองฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 26เดือนมกราคม พุทธศักราช 2514

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาสามแยก เลขที่ เอ็น 1-241290 ลงวันที่ 8 มกราคม 2512 จำนวนเงิน 70,110 บาทชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ดังปรากฎตามสำเนาเช็คหมายเลข 1 ท้ายฟ้อง เมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์ได้นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีโจทก์ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาราชวงศ์เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาสามแยก แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่าบัญชีปิดแล้ว ปรากฎตามสำเนาใบคืนเช็คหมายเลข 2 ท้ายฟ้อง โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ก็ขอผัดและผิดนัดเรื่อยมา จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในต้นเงินตามเช็ค70,110 บาท ในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 4 เดือนเป็นเงิน 1,752.75 บาท รวมเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิด 71,832.75 บาท จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินที่ค้างเป็นเงิน 71,832.75 บาทแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินตามเช็ค 70,110 บาทในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อ พ.ศ. 2507 – 2508 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าซื้อเหล็กเส้นไปจากโจทก์ จึงได้สั่งจ่ายเช็คให้โจทก์หลายฉบับ แต่เช็ค 3 ฉบับ ธนาคารปฏิเสธการใช้เงิน โจทก์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชยเขต 2 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้ ในที่สุดตกลงกันโดยให้จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทให้โจทก์ยึดถือไว้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2509 และให้จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คนั้น การออกเช็คไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ โจทก์ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีบัญชีกับธนาคารศรีนคร สาขาสามแยก จึงไม่มีสิทธิเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทได้ตามกฎหมายและโจทก์ไม่ประสงค์จะเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นแต่อย่างใดต่อมาโจทก์มีเจตนาไม่สุจริตจดวันที่ไม่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คนั้นเป็นวันที่ 8 มกราคม 2512 แล้วนำเช็คเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงินโดยไม่สุจริต เช็คพิพาทออกให้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน2509 โจทก์มิได้นำยื่นต่อธนาคารเพื่อให้ใช้เงินภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นความรับผิดในฐานะผู้สลักหลัง เพราะเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็ค อนึ่ง มูลหนี้ตามเช็คพิพาทเป็นมูลหนี้อันเกิดจากการซื้อขายเหล็กเส้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2507 และ 2508 โจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในอายุความ 2 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความอย่างไรก็ดี โจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คไม่ฟ้องผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังภายในกำหนดอายุความตามกฎหมายตั๋วเงินฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงินอีกด้วย ขอให้ศาลยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ออกเช็คฉบับพิพาทให้โจทก์โดยยอมจะใช้เงินตามเช็คนั้น ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดตามเช็ค โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายเป็นวันที่ 8 มกราคม 2512 ก็โดยจำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์เช่นนั้น โจทก์จึงมีสิทธิลงวันตามที่ถูกต้องแท้จริงได้และคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 71,832.75 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในต้นเงินตามเช็ค 70,110 บาท ในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 1,000 บาทแทนโจทก์ด้วย

จำเลยอุทธรณ์ เว้นแต่เรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (1)

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว

ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 รู้จักกันมาประมาณ 10 ปี เคยทำการซื้อขายติดต่อกัน และรู้จักจำเลยที่ 2 มา 4-5 ปี โดยเคยมาซื้อเหล็กจากโจทก์ เมื่อหลายปีมาแล้ว จำเลยที่ 1 มาซื้อเหล็ก ได้ออกเช็คให้หลายฉบับเป็นเงิน 73,000 บาทเศษเป็นเช็คของธนาคารศรีนคร แต่เมื่อนำเช็คไปขึ้นเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น โจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1 ก็ไม่ชำระจึงแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ต่อมาตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้จำเลยที่ 1 บอกว่าไม่มีเงินขอผัดไปก่อน โดยจำเลยที่ 1 จะออกเช็คให้ใหม่ และให้จำเลยที่ 2 สลักหลังเมื่อหักยอดเงิน 3,000 บาทที่จำเลยที่ 1 ใช้ให้บางส่วนแล้ว จำเลยได้ออกเช็คธนาคารศรีนคร สาขาสามแยก จำนวนเงิน 70,110 บาท ศาลหมาย จ.1 ให้โจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง แต่ไม่ได้ลงวันที่ในเช็คเพราะจำเลยที่ 1 บอกว่ายังเก็บเงินที่บ้านนอกไม่ได้ ถ้าเก็บได้จะบอกให้โจทก์ลงวันที่ ต่อมาประมาณเดือนธันวาคม 2511 จำเลยที่ 1 ได้มาหาโจทก์ที่ร้านบอกว่าสิ้นปีนี้เงินงวดเก็บได้หมดแล้ว จำเลยที่ 1จะเอาเงินเข้าบัญชีให้เรียบร้อย ให้ลงวันที่ในเช็คเป็นวันที่ 8 มกราคม 2512 ได้ ครั้นถึงกำหนดโจทก์นำเช็คเข้าบัญชีที่ธนาคารกรุงไทย สาขาราชวงศ์ เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารศรีนคร สาขาสามแยกปฏิเสธการจ่ายเงิน แจ้งว่าบัญชีปิดแล้ว ตามใบคืนเช็คศาลหมาย จ.2 โจทก์ติดตามทวงถามจำเลยที่ 1 ไม่พบ จึงไปติดต่อกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 บอกว่าต้องให้เวลาสักหน่อยจะไปติดตามเอาเงินมาชำระให้ โจทก์ไปติดต่อกับจำเลยที่ 2 หลายครั้ง แต่ก็ไม่นำเงินมาชำระให้ จึงให้ทนายความทวงถามไปยังจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้รับชำระ การตกลงกันดังกล่าวแล้วข้างต้น ตำรวจได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานตามเอกสารศาลหมาย ล.3 เหตุที่โจทก์รับเช็คของจำเลยที่ 1 ไว้ก็โดยจำเลยที่ 1 บอกว่าบัญชีมิได้ถูกปิด เอาเงินเข้าบัญชีแล้วก็เบิกเงินตามเช็คนั้นได้ และว่าแม้บัญชีจะถูกปิด เมื่อนำเงินไปเข้าก็ขึ้นเงินได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ก็รับรองว่าไม่เป็นไร เพราะเขาสลักหลังอยู่

จำเลยทั้งสองนำสืบว่า เมื่อปี พ.ศ. 2507 – 2508 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ค่าซื้อเหล็กเส้นเป็นเงิน 73,110 บาท ได้ออกเช็คให้โจทก์ไว้ 2 – 3 ฉบับ แต่ขึ้นเงินไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 1 ปิดบัญชีกับธนาคารแล้ว โจทก์จึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ครั้นวันที่ 29 มิถุนายน 2509 ตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้และโจทก์ได้ไปพบบอกว่าไม่ตั้งใจดำเนินคดีอาญา ขอให้ได้เงินคืนบ้างและยินดีให้ผ่อนชำระหนี้ ในวันนั้นจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ 3,000 บาท และโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เขียนเช็คใบใหม่เพื่อแสดงว่าหนี้ยังคงค้างอยู่อีกเท่าใด จำเลยที่ 1 บอกว่าปิดบัญชีกับธนาคารแล้ว โจทก์ว่าไม่เป็นไร ออกเช็คเพื่อให้รู้ว่ายังค้างหนี้อยู่อีกเท่านั้นจะไม่เอาเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคาร จำเลยที่ 1 จึงเขียนเช็คตามเอกสารศาลหมาย จ.1 ให้โดยไม่ได้ลงวันที่ในเช็ค เพราะโจทก์บอกว่าบัญชีปิดแล้วก็ไม่ต้องลง โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาบุญธรรมของภริยาจำเลยที่ 1 เซ็นชื่อไว้ด้านหลังเช็คด้วยเพื่อว่าถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ก็จะให้จำเลยที่ 2นำตัวจำเลยที่ 1 มาหาโจทก์ได้ มิได้มีเจตนาจะรับผิดในฐานะผู้สลักหลังแต่อย่างใด หลังจากนั้นโจทก์ไม่ได้พบกับจำเลยทั้งสองอีกเลย จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงให้โจทก์กรอกวันสั่งจ่ายเป็นวันที่ 8 มกราคม 2512

ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยตลอดแล้วข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่าเมื่อ พ.ศ. 2507 – 2508 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ค่าซื้อเหล็กเส้นเป็นเงิน 73,110 บาท จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คให้โจทก์ไว้ 3 ฉบับ ต่อมาโจทก์นำเช็คไปขึ้นเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงแจ้งความต่อตำรวจขอให้ดำเนินคดีอาญา จำเลยที่ 1 ตกลงใช้เงินให้แก่โจทก์ 3,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 70,110 บาท จำเลยที่ 1ได้ออกเช็คศาลหมาย จ.1 ให้ไว้ โดยมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาบุญธรรมภรรยาจำเลยที่ 1 เซ็นชื่อสลักหลังไว้ด้วย แต่เช็คนั้นไม่ได้เขียน วัน เดือน ปีที่สั่งจ่ายไว้ การตกลงตำรวจได้ลงบันทึกประจำวันไว้ตามเอกสารศาลหมาย ล.3 และโจทก์ได้ถอนคำร้องทุกข์ไม่ดำเนินคดีอาญากับจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ได้กรอกวันสั่งจ่ายเป็นวันที่ 8 มกราคม 2512 แล้วนำเช็คไปเข้าบัญชีโจทก์ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาราชวงศ์เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่าบัญชีปิดแล้ว

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามเช็คพิพาทศาลหมาย จ.1 อย่างไรหรือไม่ และคดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องเรียกเงินตามเช็คอันว่าด้วยลักษณะตั๋วเงินหรือไม่

พิเคราะห์แล้ว เช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 898 ถือว่าเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่งใน 3 ประเภท และตามมาตรา 989 บัญญัติให้นำบทบัญญัติในเรื่องตั๋วแลกเงิน มาตรา 910มาใช้บังคับเกี่ยวกับเช็คได้ ฉะนั้น เช็คที่มีรายการขาดตกบกพร่องตามมาตรา 988 คือมิได้ลงวันที่ออกเช็ค ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้ เป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าการที่โจทก์จดแจ้งวันที่ลงไปในเช็คนั้นถือได้หรือไม่ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานและมีนายฮกกวง แซ่จิว พยานอีกปากหนึ่ง เบิกความสอดคล้องคำของโจทก์ว่าเมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2511 จำเลยที่ 1 ได้มาที่ร้านโจทก์บอกว่าเช็คใบนั้น (เช็คพิพาท) ให้นำเข้าบัญชีได้ ให้โจทก์ลงวันที่ในเช็คเป็นวันที่ 8 มกราคม 2512 โดยจำเลยที่ 1 บอกว่าสิ้นปีเงินงวดจำเลยที่ 1 เก็บได้หมดแล้ว จะเอาเงินเข้าบัญชีให้เรียบร้อยฝ่ายจำเลยนั้นคงมีแต่คำของจำเลยที่ 1 ผู้เดียวเบิกความลอย ๆ ว่าที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์กรอกวันที่ลงในเช็คพิพาทไม่เป็นความจริงเท่านั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงเหตุผลโดยทั่วไปประกอบแล้ว เห็นได้ในเบื้องต้นว่าการที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ออกเช็คก็เพื่อต้องการให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามเช็คนั้น จำเลยที่ 1 ผู้เป็นพ่อค้าและเคยใช้เช็คย่อมทราบดีถึงความประสงค์ของโจทก์อันนี้ที่จำเลยที่ 1 นำสืบอ้างว่าโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เขียนเช็คให้เพื่อแสดงว่ายังคงเป็นหนี้กันอยู่อีกเท่าใด และโจทก์จะไม่เอาเช็คไปขึ้นเงินนั้น จึงไม่มีเหตุผลอันควรฟังเพราะถ้าประสงค์เช่นนั้นก็ไม่จำเป็นต้องออกเช็ค จะเขียนกันไว้ในกระดาษอย่างอื่นก็ได้ สรุปแล้ว รูปคดีน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้ไปหาโจทก์และบอกให้โจทก์ลงวันที่ในเช็คเพื่อเบิกเงินในวันที่ 8 มกราคม 2512 ดังที่โจทก์นำสืบ เมื่อโจทก์ลงวันที่ในเช็คตรงตามที่จำเลยที่ 1 สั่ง ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำลงโดยสุจริต อย่างไรก็ดีศาลฎีกาเห็นว่าแม้จะฟังข้อเท็จจริงถึงกับว่าโจทก์ได้ทราบว่าธนาคารได้ปิดบัญชีกับจำเลยที่ 1 แล้ว แต่โจทก์ก็ยังยอมรับเช็คไว้ก็ตาม จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธความรับผิดของตนตามเช็คนั้นหาได้ไม่ เพราะเช็คเป็นตราสารซึ่งผู้สั่งจ่าย สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินแก่ผู้ทรง และผู้สั่งจ่ายเป็นอันสัญญาว่า ถ้าธนาคารไม่ยอมจ่ายเงิน ผู้สั่งจ่ายก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรงเองการจะทราบว่าบัญชีของจำเลยที่ 1 ได้ถูกปิดแล้วหรือไม่จึงไม่ใช่ข้อสำคัญ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเช็คนั้น

ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นสลักเช็คซึ่งมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ระบุบังคับไว้ตามผู้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988 (6)โดยมิได้ลงวันออกตั๋ว แต่เป็นที่คาดหมายได้ว่าผู้ทรงโดยชอบผู้ทำการโดยสุจริตอาจจะจดแจ้งวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในขณะใดขณะหนึ่งก็ได้ เช่นนี้ เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยเชื่อว่าโจทก์ผู้ทรงเช็คโดยชอบจดวันสั่งจ่ายตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คด้วยความรู้เห็นยินยอมของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่ยอมใช้เงินแก่โจทก์จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้เกี่ยวข้องรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 ยินยอมอนุญาตให้โจทก์ลงวันสั่งจ่ายในเช็คนั้นก็ตาม

เมื่อถือว่าวันสั่งจ่ายในเช็คพิพาทเป็นวันที่ 8 มกราคม 2512โจทก์นำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินในวันที่ 8 นั้นเองแต่ธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาราชวงศ์ ผู้จ่ายได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2512 โจทก์ได้นำคดีขึ้นฟ้องร้องคดีของโจทก์จึงไม่สิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 แต่อย่างใด ทั้งคดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความฟ้องจำเลยทั้งสองตาม มาตรา 1002 ตามลักษณะตั๋วเงินด้วยเพราะโจทก์ได้นำคดีขึ้นฟ้องร้องภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันตั๋วเงินถึงกำหนด

สรุปแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 800 บาทแทนโจทก์

Share