คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 288/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 160 จะบัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย ก็ไม่เป็นการตัดอำนาจพนักงานสอบสวนที่จะสอบสวนกรณีเดียวกันนี้
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะสอบสวนผู้ใด หรือจะมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ผู้ใดเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยเฉพาะหากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ดำเนินการสอบสวน ผู้เสียหายก็ชอบที่จะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หรือฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดได้ด้วยตนเองจะบังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำการสอบสวนหรือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ผู้นั้นผู้นี้หาได้ไม่

ย่อยาว

คดีนี้ สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ในระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว และเป็นกรรมการเจ้าหนี้ ยื่นคำร้องว่า ขณะจำเลยประกอบธุรกิจประกันชีวิต จำเลยไม่มีบัญชีย้อนหลังขึ้นไป 3 ปี นับแต่วันถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด กรรมการของบริษัททุกคนมีความผิดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 167, 175(2) ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ขอให้สอบสวนดำเนินคดีอาญาต่อกรรมการทุกคนของบริษัทจำเลย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งเห็นชอบด้วย แต่อ้างว่ายังไม่พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ ขอมอบให้ผู้ร้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และกลับมอบอำนาจให้ผู้ร้องไปร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญากับนายวิกุล บูรณพิพัฒน์ กรรมการของบริษัทจำเลยผู้เดียว ผู้ร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำหนังสือมอบอำนาจให้ถูกต้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งว่า เห็นสมควรให้ร้องทุกข์เท่าที่ปรากฏในใบมอบอำนาจทั้งกรรมการเจ้าหนี้มีอำนาจร้องทุกข์เพิ่มเติมได้ในฐานะผู้เสียหาย ไม่ต้องอาศัยอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และให้ยกคำร้อง ผู้ร้องจึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีอาญาต่อกรรมการทุกคนของบริษัท หรือให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มอบอำนาจใหม่ให้ผู้ร้องมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ดำเนินคดีอาญาต่อกรรมการทุกคนของบริษัทจำเลย

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า การที่ผู้ร้องขอให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ใดนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่จำต้องปฏิบัติตาม แต่มีอำนาจพิจารณาให้แน่ชัดเสียก่อน ทางสอบสวนปรากฏว่านายวิกุลมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบแต่ผู้เดียวในการดำเนินการของบริษัท ส่วนกรรมการอื่นไม่ได้เข้าไปดำเนินการของบริษัทจำเลย ผู้ร้องจะให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปร้องทุกข์กล่าวโทษผู้อื่นยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าได้กระทำผิด ย่อมเป็นสิ่งที่ขัดต่อเหตุผลและไม่อาจกระทำได้ ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ร้องมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่กรรมการของบริษัทจำเลยทุกคน

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483มาตรา 160 จะบัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นพนักงานสอบสวนในกรณีที่มีเหตุควรเชื่อได้ว่าลูกหนี้หรือผู้หนึ่งผู้ใดกระทำผิดในทางอาญา เกี่ยวกับการล้มละลาย ก็ไม่เป็นการตัดอำนาจของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่จะสอบสวนกรณีเดียวกันนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะสอบสวนผู้ใด หรือมอบอำนาจให้ไปร้องทุกข์ผู้ใด อยู่ในดุลพินิจและเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยเฉพาะเท่านั้น หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ดำเนินการสอบสวนผู้ร้องซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เสียหาย ก็ชอบที่จะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หรือฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว จะมาบังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำการสอบสวนหรือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ผู้นั้นผู้นี้หาได้ไม่

พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share