คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 117/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

องค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้นจะต้องได้ความว่าการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติของเจ้าพนักงานนั้นอยู่ในหน้าที่ โจทก์พา ส. ไปแล้วได้จดทะเบียนสมรสกัน ม. บิดาของ ส. ไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐมว่าโจทก์ฉุดคร่า ส. จำเลยที่ 2 เป็นนายตำรวจอยู่กองทะเบียนประวัติอาชญากรได้จับโจทก์บอกว่ามีคนแจ้งให้จับเรื่องฉุดผู้หญิง และขู่ให้ถอนทะเบียนสมรสเสีย เมื่อไปถึงสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐมจำเลยที่ 2 ได้พาโจทก์ไปพบจำเลยที่ 1 ที่บ้านจำเลยที่ 1 เป็นนายตำรวจอยู่กองบังคับการตำรวจภูธรเขต 7ตำแหน่งนายเวร ได้พูดขู่จะทำร้ายโจทก์และให้คนไปตามม.มา ม. บอกว่าจัดการก็แล้วกัน จำเลยที่ 1 ก็ให้จำเลยที่ 2 พาโจทก์ไปมอบให้นายร้อยเวรสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐม การกระทำของจำเลยดังนี้ เป็นการปฏิบัติการนอกหน้าที่ ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 157 เพราะจำเลยมิได้มีหน้าที่เกี่ยวกับคดีที่ ม. แจ้งความไว้นั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่สมคบกันกระทำผิดกฎหมาย กล่าวคือจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนกับจำเลยที่ 3 และที่ 4ได้บังอาจหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและจำเลยทั้งสี่ได้ข่มขืนใจโจทก์โดยมีอาวุธ เพื่อให้โจทก์ถอนทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับนางเสริมศรีซึ่งได้จดทะเบียนกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยจำเลยทั้งสี่มีเจตนาทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 157, 309, 310

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วให้ประทับฟ้องเฉพาะข้อหาฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังตามมาตรา 310 ส่วนข้อหาตามมาตรา 157 นั้นเห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้มีตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบในคดีที่โจทก์ถูกกล่าวหาโดยตรง ตามพยานหลักฐานที่นำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสอง ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(17) และมีอำนาจจับกุมได้ตามมาตรา 78 ซึ่งโจทก์ก็ได้กล่าวไว้ในฟ้องแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 จับโจทก์แล้วกักขังไว้ มิได้ส่งไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐมย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะมิได้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาใจความเช่นเดียวกับชั้นอุทธรณ์

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 รับราชการอยู่กองบังคับการตำรวจภูธรเขต 7 ตำแหน่งนายเวร จำเลยที่ 2 รับราชการอยู่กองทะเบียนประวัติอาชญากร กรมตำรวจ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2512 โจทก์พานางสาวเสริมศรี ไปจังหวัดราชบุรี แล้วต่อมาได้จดทะเบียนสมรสกัน บิดานางเสริมศรีได้แจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐมว่าโจทก์ฉุดคร่านางเสริมศรีครั้นวันที่ 13 เมษายน 2512 จำเลยที่ 2 กับพวกจับโจทก์จะพาไปสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐมระหว่างทางจำเลยที่ 2 บอกโจทก์ว่ามีคนแจ้งให้จับเรื่องฉุดผู้หญิง โจทก์ว่าจับอย่างไรได้จดทะเบียนสมรสถูกต้อง จำเลยที่ 2 บอกว่าให้ถอนเสีย ไม่ถอนจะเอาเรื่องและขู่โจทก์ว่าจะจัดการ ซึ่งหมายความว่าจะทำร้ายโจทก์ เมื่อมาถึงสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองนครปฐม จำเลยที่ 2 พาไปพบจำเลยที่ 1 ที่บ้าน จำเลยที่ 1 พูดกับโจทก์ว่า ได้ข่าวว่านักเลงนักหรือ จะเอาตายหรือหยอดน้ำข้าวต้ม แล้วจำเลยที่ 1 ให้คนไปตามบิดามารดานางเสริมศรีมา ระหว่างรออยู่นี้จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ว่าได้ยินข่าวว่าลื้อใหญ่โตมีอิทธิพล ลื้อจะเอาอย่างไรกับอั๊วก็ได้ ต่อมานายเม้งบิดานางเสริมศรีมาที่บ้านจำเลยที่ 1 และบอกจำเลยที่ 1 ว่าจัดการก็แล้วกัน จำเลยที่ 1 จึงให้จำเลยที่ 2 พาโจทก์ไปมอบให้ร้อยตำรวจโทโชติ นายร้อยเวร ณ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐมแล้ววินิจฉัยว่า

คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า องค์ประกอบความผิดตามมาตรานี้จะต้องได้ความในเบื้องต้นว่าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติของเจ้าพนักงานนั้นต้องอยู่ในหน้าที่ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นนายเวรอยู่กองบังคับการตำรวจภูธร เขต 7 ส่วนจำเลยที่ 2 ก็รับราชการอยู่กองทะเบียนประวัติอาชญากร กรมตำรวจ มิได้มีหน้าที่ปฏิบัติการเกี่ยวกับคดีที่นายเม้งแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐม กล่าวหาโจทก์ว่าฉุดคร่านางเสริมศรีแต่ประการใดเลย เมื่อเป็นการปฏิบัตินอกหน้าที่ ก็ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

พิพากษายืน

Share