แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หน้าที่เปิดเผยข้อความจริงของผู้เอาประกันภัย มิได้สิ้นสุดลงเพียงในชั้นยื่นคำเสนอขอเอาประกันภัยโดยกรอกคำตอบในแบบคำขอนั้นเท่านั้น แต่ยังคงมีอยู่ตลอดเวลาในระหว่างนั้นเรื่อยไปจนถึงเวลาที่ผู้รับประกันภัยสนองตอบรับจนเกิดเป็นสัญญาขึ้นแล้วระหว่างคู่กรณี ฉะนั้น ในกรณีประกันชีวิต แม้ผู้เอาประกันภัยจะได้กรอกแบบคำขอเอาประกันชีวิตแล้ว โดยเฉพาะในข้อถามที่ 7 ว่า ตนไม่เคยเป็นโรคกระเพาะอักเสบ โรคตับอักเสบ ฯลฯ ยื่นส่งแก่บริษัทประกันภัยไปแล้วก็ตาม ถ้าภายหลังนั้นผู้เอาประกันภัยเกิดป่วยต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคกระเพาะอาหารและโรคตับแข็งซึ่งเป็นผลให้ข้อความจริงซึ่งได้แถลงไปแล้วแต่แรกนั้นคลาดเคลื่อนไม่ตรงต่อความเป็นจริง และผู้เอาประกันภัยย่อมทราบว่ายังอยู่ในระหว่างเวลาที่บริษัทยังพิจารณาคำขอ และยังมิได้ออกกรมธรรม์ตอบรับมา ทั้งข้อถามต่างๆ ในแบบคำขอนั้น ผู้เอาประกันภัยเองก็ได้ทราบและรับรองไว้ว่าเป็นข้อความจริงอันเป็นมูลฐานและสารสำคัญแห่งการออกกรมธรรม์ของฝ่ายผู้รับประกันภัยดังนี้ ย่อมมีผลให้สัญญาไม่สมบูรณ์เป็นโมฆียะ ผู้รับประกันภัยมีสิทธิบอกล้างและคืนแต่ค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ทายาทของผู้เอาประกันภัยเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2508 นายแพง ชุมคำ ได้เอาประกันชีวิตไว้กับบริษัทจำเลย มีกำหนดระยะเวลาเอาประกัน 20 ปี เป็นเงิน 30,000 บาท บริษัทคิดเบี้ยประกันปีละ 2,310 บาท กำหนดส่งเป็นรายปีเป็นเวลา 15 ปี หรือจนกว่านายแพง ชุมคำ ถึงแก่กรรม (กรณีตายก่อนครบกำหนด 15 ปี) โดยบริษัทจำเลยจะจ่ายเงินจำนวน 30,000 บาทเมื่อนายแพง ชุมคำ ถึงแก่กรรมภายในกำหนดเวลา 20 ปี ตามสัญญาแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามหนังสือกรมธรรม์ประกันชีวิตเลขที่ 11709 นายแพง ชุมคำ ได้ส่งเบี้ยประกันให้แก่บริษัทจำเลยแล้ว 1 งวด เป็นเงิน 2,310 บาทต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2508นายแพง ชุมคำ ผู้เอาประกันชีวิตได้ถึงแก่กรรม โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ได้แจ้งไปยังบริษัทจำเลยพร้อมหลักฐานเพื่อขอรับเงินกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าว บริษัทจำเลยส่งผู้แทนมาเอากรมธรรม์ประกันชีวิตไปจากโจทก์อ้างว่าจะจ่ายเงินให้ แต่แล้วในวันที่ 7 ธันวาคม 2508 กลับปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินโดยอ้างว่านายแพง ชุมคำได้ปกปิดความจริงเกี่ยวกับสุขภาพและความเจ็บป่วย ซึ่งความจริงนายแพง ชุมคำ หาได้ปกปิดความจริงดังกล่าวแต่ประการใดไม่ ขอให้บังคับให้บริษัทจำเลยชำระเงินที่เอาประกันจำนวน 30,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2508 ซึ่งเป็นวันที่บริษัทจำเลยปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินให้จนกว่าจะใช้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับประกันชีวิตนายแพง ชุมคำ ซึ่งได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2508 แต่เหตุที่จำเลยไม่จ่ายเงินแก่โจทก์ก็เพราะนายแพง ชุมคำ ผู้เอาประกันซึ่งรู้อยู่แล้วว่าสุขภาพของตนไม่สมบูรณ์เป็นโรคมีความเจ็บป่วยซึ่งเกิดแก่ตนก่อนที่จะเอาประกันชีวิต ละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ทั้งแถลงข้อความเท็จเกี่ยวกับสุขภาพ ความเป็นโรคและความเจ็บป่วยของตนเป็นการผิดต่อกฎหมายและผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งตกเป็นโมฆียะ จำเลยได้มีหนังสือบอกล้างไปยังโจทก์แล้ว จึงไม่มีหน้าที่ชำระเงินประกันตามฟ้อง คงมีหน้าที่คืนเงินเบี้ยประกันหรือค่าไถ่ถอนกรมธรรม์เท่านั้นซึ่งจำเลยก็พร้อมจะชำระแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นฟังว่า นายแพง ชุมคำ ไม่ได้ปกปิดความจริงเกี่ยวกับสุขภาพหรือการเจ็บป่วยของตนในการทำสัญญาประกันชีวิตนี้ พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2508 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัย 2 ประเด็นคือ1. ในเวลาทำสัญญาประกันชีวิตนั้น นายแพง ชุมคำ ผู้เอาประกันภัยละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงเกี่ยวกับสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์ เจ็บป่วยเป็นโรคหรือแถลงข้อความนั้นเป็นเท็จหรือไม่ 2. การบอกล้างสัญญาประกันชีวิตของจำเลยสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่
ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2508 นายแพงได้ยื่นคำขอประกันชีวิตต่อบริษัทจำเลย แต่เนื่องจากการประกันชีวิตชนิดนี้มีกำหนดเวลา 30 ปี ได้ยกเลิกแล้วจึงขอประกันชีวิตชนิดมีกำหนดเวลา 20 ปี เจ้าหน้าที่บริษัทจำเลยได้สอบถามนายแพงเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยตามเอกสาร ล.7 โดยเฉพาะข้อถามที่ 7 มีว่า “ท่านเคยเป็นโรคกระเพาะอักเสบ ลำไส้อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบและโรคตับหรือไม่” ซึ่งนายแพงตอบว่า “ไม่” ภายหลังนายแพงยื่นคำขอและตอบข้อถามในวันที่ 1 มิถุนายน 2508 ไปแล้ว ต่อมาวันที่ 16 ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2508 นายแพงได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสระบุรีด้วยโรคแผลในกระเพาะอาหารเมื่อออกจากโรงพยาบาลดังกล่าวในวันเดียวกันนั้นได้เข้ารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลจังหวัดลพบุรีด้วยโรคตับแข็งจนกระทั่งวันที่ 28 กรกฎาคม 2508 แล้ว ภายหลังนั้นได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลอานันทมหิดลอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2508 จนในที่สุดได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2508 ด้วยโรคตับแข็ง ภายหลังที่นายแพง ยื่นขอเอาประกันชีวิตและชำระเบี้ยประกันภัยงวดแรกเป็นเงิน 2,310 บาทแล้ว บริษัทจำเลยได้ออกใบรับเงินและออกกรมธรรม์ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2508 ตอนรับประกันชีวิตนายแพง
ในประเด็นข้อหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะฟังว่านายแพงได้ยื่นคำขอประกันชีวิตไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2508 ตามหลักฐานที่โจทก์อ้าง หรือหลังวันที่ 22 เดือนนั้นซึ่งเป็นการยื่นขอทำสัญญาประกันฉบับพิพาทนี้ดังที่จำเลยโต้แย้งก็ตาม แต่ก่อนวันที่ 28 เดือนเดียวกันซึ่งเป็นวันที่บริษัทจำเลยตกลงรับประกันโดยออกกรมธรรม์ฉบับพิพาทนี้ นายแพง ก็ยังมีหน้าที่ต้องเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับโรคกระเพาะอักเสบและโรคตับแข็งที่เกิดขึ้นแก่ตนในตอนหลังนี้ด้วย เมื่อตนมิได้เปิดเผยข้อความจริงดังกล่าวให้บริษัททราบก่อนที่สัญญาจะเกิดขึ้นแล้วระหว่างคู่กรณี ซึ่งเป็นผลให้ข้อความจริงซึ่งได้แถลงไปแต่แรกนั้นคลาดเคลื่อนไปจากความจริง ซึ่งนายแพงควรต้องทราบว่ายังอยู่ในระหว่างระยะเวลาที่ทางผู้รับประกันภัยยังพิจารณาข้อความจริงในคำขอเอาประกันนั้นอยู่ซึ่งโรคนั้นนายแพงได้ทราบและรับรองไว้ในคำขอประกันชีวิตว่าเป็นมูลฐานและสารสำคัญแห่งการออกกรมธรรม์ และบริษัทก็นำสืบด้วยว่าถ้าทราบก็จะไม่เข้าทำสัญญาด้วยดังนี้ สัญญาประกันชีวิตจึงไม่สมบูรณ์เป็นโมฆียะซึ่งจำเลยมีสิทธิบอกล้างได้
ในประเด็นข้อสอง ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อบริษัทได้ทราบการตายของนายแพงจากหนังสือลงวันที่ 19 ตุลาคม 2508 ของนางทองคำผู้รับประโยชน์แล้ว ซึ่งในหนังสือนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่านายแพงได้เป็นโรคนี้จนถึงแก่ความตายมาตั้งแต่เมื่อไรแล้วได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สืบสวนมูลเหตุการตายและได้รับรายงานเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2508 ว่านายแพงได้ป่วยด้วยโรคนี้มาก่อนที่บริษัทได้ออกกรมธรรม์ประกันชีวิตให้ บริษัทจึงได้มีหนังสือลงวันที่ 7 ธันวาคม 2508 บอกล้างสัญญาไปซึ่งเป็นเวลาภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันทราบมูลอันจะบอกล้างได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรค 2 ซึ่งผู้รับประกันภัยคงต้องคืนแต่ค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยแก่ทายาทของผู้เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 892
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์