คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2986/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 24 วรรคสอง งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานนั้นหมายถึง งานที่ลูกจ้างทำอยู่ในเวลาทำงานปกติมีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำต่อเนื่องกันไปจนกว่างานจะเสร็จ หากหยุดก่อนงานที่ทำนั้นเสร็จ งานที่ทำนั้นจะเสียหาย ส่วนงานฉุกเฉินนั้นหมายถึง งานที่เกิดขึ้นทันทีโดยไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้าและงานนั้นต้องทำให้เสร็จสิ้นทันที มิฉะนั้นงานที่เกิดขึ้นนั้นจะเสียหาย งานขึ้นรูปปลาสวรรค์เป็นงานที่ทำเสร็จเป็นชิ้น ๆ เมื่อทำงานตามที่รับมอบหมายในเวลาทำงานปกติเสร็จสิ้นแล้ว แม้ไม่ทำงานล่วงเวลาต่อไป ก็ไม่ทำให้งานที่ทำไว้เดิมต้องเสียหายแต่อย่างใด จึงมิใช่งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน และการที่จำเลยได้รับคำสั่งซื้อปลาสวรรค์จากลูกค้าเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัวก็มิใช่งานที่เกิดขึ้นทันทีโดยไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า จึงไม่ใช่งานฉุกเฉิน จำเลยไม่อาจสั่งให้โจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองก่อน

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลย ทำหน้าที่ขึ้นรูปปลาสวรรค์ ในแผนกปลาสวรรค์ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง โดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำผิด และมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม สภาพการจ้างเดิม หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานได้ ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 10,000 บาท ค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจำนวน 30 วัน คิดเป็นเงินคนละ 4,860 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ 2,916 บาท

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง เนื่องจากโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและเป็นการละทิ้งหน้าที่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์คนละ 3,000 บาท ค่าชดเชยคนละ 4,860 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ 2,916 บาท

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานนั้น หมายถึง งานที่ลูกจ้างทำอยู่ในเวลาทำงานปกติมีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำต่อเนื่องกันไปจนกว่างานจะเสร็จ หากหยุดก่อนงานที่ทำนั้นเสร็จ งานที่ทำนั้นจะเสียหาย ส่วนงานฉุกเฉินนั้นหมายถึง งานที่เกิดขึ้นทันทีโดยไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้าและงานนั้นต้องทำให้เสร็จสิ้นทันที มิฉะนั้นงานที่เกิดขึ้นนั้นจะเสียหาย งานขึ้นรูปปลาสวรรค์ที่โจทก์ทั้งสองทำให้แก่จำเลยนั้นเป็นการนำเนื้อปลามาทำเป็นรูปปลาชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งเป็นงานที่ทำเสร็จเป็นชิ้น ๆ เมื่อทำงานตามที่รับมอบหมายในเวลาทำงานปกติเสร็จสิ้นแล้ว แม้ไม่ทำงานล่วงเวลาต่อไปก็ไม่ทำให้งานที่ทำไว้เดิมต้องเสียหายแต่อย่างใด จึงมิใช่งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน และการที่จำเลยได้รับคำสั่งซื้อปลาสวรรค์จากลูกค้าเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัวนั้น ก็มิใช่งานที่เกิดขึ้นทันทีโดยไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า จึงไม่ใช่งานฉุกเฉินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคสอง ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้รับคำสั่งซื้อปลาสวรรค์จากลูกค้าเพิ่มมากขึ้นต้องผลิตและส่งให้แก่ลูกค้าทันเวลาในวันรุ่งขึ้น เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ทำงานล่วงเวลา จำเลยต้องให้คนอื่นทำงานแทนมากกว่า 3 เท่าตัว และผลงานไม่ได้มาตรฐาน ถูกลูกค้าตำหนิ จะถูกลดจำนวนสั่งซื้อลงหรือเลิกการสั่งซื้อนั้น ล้วนแต่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง เนื่องจากระบบการบริหารงานของจำเลยเองทั้งสิ้น เมื่องานขึ้นรูปปลาสวรรค์มิใช่งานที่จำเลยจะให้โจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลา โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองก่อนได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคสอง การที่โจทก์ทั้งสองไม่ยอมทำงานดังกล่าวล่วงเวลา ตามที่จำเลยสั่งให้ทำย่อมไม่มีความผิดที่จำเลยจะออกหนังสือตักเตือนได้ การกระทำของโจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share