คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2081/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้รับประกันภัยรับประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายในการขนส่งอุปกรณ์ไฟฟ้า เมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่เอาประกันภัยเสียหายและผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิที่จะฟ้องผู้ทำละเมิดและจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนของผู้ทำละเมิดได้แม้กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัยจะลงลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลไม่ถูกต้องตามตราสารข้อบังคับ ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยที่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญาประกันภัย จำเลยร่วมหาอาจยกมาเป็นเหตุให้ตนหลุดพ้นจากความรับผิดได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับประกันภัยจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์รับจ้างขนส่งสินค้าทางน้ำและทางบก และรับจ้างขนถ่ายสินค้าขึ้นและลงจากเรือเดินสมุทร โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อกลางปี 2525 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยว่าจ้างบริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นให้ออกแบบก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดราชบุรี พร้อมทั้งจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ บริษัทดังกล่าวจัดส่งอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ จากประเทศญี่ปุ่นโดยว่าจ้างสายเดินเรือนอร์วีเจียนเอเซียไลน์เป็นผู้ขนส่งโดยเรือชื่อ ฮอลล์เดอร์ และได้ขนส่งมาถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2526 นอกจากนี้บริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นยังได้มอบหมายให้บริษัทซูมิโตโมแวร์เฮาส์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนในประเทศไทยว่าจ้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการให้ขนส่งหม้อแปลงไฟฟ้าจำนวน 4 ตัว จากเรือดังกล่าวที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดราชบุรีและให้ขนถ่ายลง ณ สถานที่ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าตามตำแหน่งที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกำหนด โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยจากบริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำหรับความเสียหายในระหว่างการก่อสร้างและการขนส่งอุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวตั้งแต่เรือออกเดินทางจากประเทศญี่ปุ่นจนกระทั่งอุปกรณ์ไฟฟ้าถูกขนส่งถึงสถานีไฟฟ้าย่อยแต่ละแห่งและติดตั้งเสร็จเรียบร้อย ในวงเงินค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 430,204,000 บาท เยนคิดเป็นเงินไทยจำนวน 41,299,584 บาท ตามสำเนากรมธรรม์ประกันภัยท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2526 จำเลยที่ 1 ได้รับหม้อแปลงไฟฟ้าจำนวน 4 ตัว จากเรือฮอลล์เดอร์แล้วขนส่งไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยแต่ละแห่ง และในวันที่ 11 เดือนเดียวกันจำเลยที่ 1 ขนส่งหม้อแปลงไฟฟ้า 1 ตัว ไปถึงสถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขณะจำเลยที่ 1 ยกหม้อแปลงไฟฟ้าลงจากรถยนต์บรรทุกเพื่อวางลงยังสถานที่ที่ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้านั้น จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ไม่ใช้ความระมัดระวังในการใช้เครื่องมือยกขนให้เพียงพอและให้เหมาะสมกับชนิด ประเภท และน้ำหนักสิ่งของที่ยก เป็นเหตุให้หม้อแปลงไฟฟ้าหลุดจากปั้นจั่นที่ใช้ยก และตกลงกระแทกกับพื้นด้วยความรุนแรง เป็นเหตุให้หม้อแปลงไฟฟ้าได้รับความเสียหายอย่างมากและไม่สามารถใช้การได้ เช่น วาล์วท่อน้ำมันแตกก้นของหม้อแปลงไฟฟ้าแตก กระดาษฉนวนไฟฟ้าภายในฉีกขาด แผ่นเหล็กภายในงอและขดลวดหลุดจากแกน ความเสียหายของหม้อแปลงไฟฟ้าดังกล่าวไม่อาจซ่อมแซมในประเทศไทยได้ ต้องส่งกลับไปซ่อมแซมที่โรงงานผู้ผลิตที่ประเทศญี่ปุ่น ค่าใช้จ่าย ในการซ่อม ค่าขนส่ง และค่าภาษีอากร รวมเป็นเงินจำนวน 6,428,577.99 บาท บริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นไป แล้วรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสองตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 6,482,537.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า บริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมิได้ทำสัญญาประกันภัยความเสียหายไว้แก่โจทก์ตามคำฟ้อง เหตุที่หม้อแปลงไฟฟ้าหลุดและตกหล่นจากปั้นจั่นไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แต่เกิดจากเหตุสุดวิสัย ซึ่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่อาจจะป้องกันได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้มีมากมายดังที่โจทก์กล่าวในคำฟ้อง บริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยทั้งสอง จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะรับช่วงสิทธิจากบริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองรับจ้างขนหม้อแปลงไฟฟ้าให้แก่บริษัทซูมิโตโมแวร์เฮาส์ จำกัด โดยมีข้อตกลงว่าหากเกิดความเสียหายขึ้นเกี่ยวกับหม้อแปลงไฟฟ้าดังกล่าว จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดไม่เกิน 3 เท่าของจำนวนค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 รับขน จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดเกินจำนวนดังกล่าว จำเลยที่ 1 เอาประกันภัยการรับขนหม้อแปลงไฟฟ้ารายนี้ไว้กับบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทอาคเนย์ประกันภัยจำกัด เข้าร่วมเป็นจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมไม่ได้รับประกันภัยสำหรับความเสียหายในการรับขนหม้อแปลงไฟฟ้าไว้จากจำเลยทั้งสอง แต่รับประกันภัยเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สาธารณชนที่เป็นผลเนื่องมาจากการปฏิบัติงานของผู้เอาประกันภัยในฐานะที่เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าขึ้นหรือลงเรือรับส่งสินค้าและหรือในฐานะผู้ปฏิบัติงานในบริเวณท่าขนถ่ายสินค้าของเรือรับส่งสินค้าเท่านั้น ความเสียหายของหม้อแปลงไฟฟ้าคดีนี้เกิดขึ้นขณะยกหม้อแปลงไฟฟ้าขึ้นติดตั้ง ณ แท่นติดตั้งในโรงงาน ไม่ได้เกิดขึ้นขณะขนถ่ายสินค้าขึ้นเรือลงจากเรือรับส่งสินค้าหรือขณะปฏิบัติงานในบริเวณท่าขนถ่ายสินค้าทางเรือตามที่จำเลยร่วมรับประกันภัยไว้ ความเสียหายจึงเกิดขึ้นนอกขอบเขตความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยของจำเลยร่วม จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ได้รับประกันภัยสำหรับความเสียหายจากการขนส่งหม้อแปลงไฟฟ้า ไม่ได้จ่ายเงินค่าเสียหาย และไม่ได้รับช่วงสิทธิ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัย โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่น หากโจทก์จ่ายเงินไป ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสองขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 6,482,537.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ มิฉะนั้นก็ให้จำเลยร่วมชำระแทน

จำเลยร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อกลางปี 2525 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างบริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นให้ออกแบบและก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย พร้อมทั้งจัดหาและติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ที่จังหวัดราชบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์บริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นจัดส่งหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่จำนวนรวม 4 ตัวมาจากประเทศญี่ปุ่นโดยทางเรือ เพื่อนำไปติดตั้งที่สถานีไฟฟ้าย่อยทั้งสองแห่ง ในการนี้บริษัทซูมิโตโมแวร์เฮาส์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นในประเทศไทยได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการให้ขนส่งหม้อแปลงไฟฟ้าดังกล่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยไปส่งที่สถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดราชบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระหว่างการขนส่งขณะที่คนงานของจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องปั้นจั่นยกหม้อแปลงไฟฟ้าลงจากรถยนต์บรรทุกวางบนฐานรองรับที่สถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เครื่องปั้นจั่นเกิดขัดข้องเนื่องจากแขนยกหดเข้าไป เป็นเหตุให้หม้อแปลงไฟฟ้าหลุดจากปั้นจั่นตกลงกระแทกกับพื้นจนได้รับความเสียหาย ทางบริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นได้ส่งหม้อแปลงไฟฟ้าที่เสียหายกลับไปซ่อมที่บริษัทฟูจิอิเล็กทริก จำกัด ประเทศญี่ปุ่น แล้วนำกลับมาติดตั้งในภายหลัง เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นจำนวน 6,482,537.99 บาท

จำเลยร่วมฎีกาข้อแรกเป็นทำนองเรื่องอำนาจฟ้องโดยกล่าวว่า สัญญาประกันภัยระหว่างบริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับโจทก์ไม่สมบูรณ์ เพราะกรรมการบริษัทโจทก์ต้องลงลายมือชื่อร่วมกัน 2 คน จึงจะมีผลผูกพันโจทก์ได้ แต่สัญญาประกันภัยมีกรรมการบริษัทโจทก์ลงชื่อเพียงคนเดียวหนี้ดังกล่าวจึงขาดหลักฐานไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 การชำระหนี้ของโจทก์เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยร่วมได้ เห็นว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างบริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นให้ออกแบบก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยกับจัดหาและติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยจากบริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสำหรับความเสียหายในระหว่างก่อสร้างและการขนส่งอุปกรณ์ไฟฟ้าตั้งแต่เรือออกเดินทางจากประเทศญี่ปุ่นจนกระทั่งอุปกรณ์ไฟฟ้าถูกขนส่งถึงสถานีไฟฟ้าย่อยแต่ละแห่งและติดตั้งเสร็จเรียบร้อยในวงเงินจำนวน 430,204,000 เยน คิดเป็นเงินไทยจำนวน 41,299,584 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ. 3 และ จ. 4 หลังจากทำสัญญาประกันภัยสำหรับความเสียหายดังกล่าวแล้ว ผู้เอาประกันภัยได้ชำระเบี้ยประกันภัยให้โจทก์ และเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งอุปกรณ์ไฟฟ้า โจทก์ก็ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้วแม้กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับบริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะลงลายมือชื่อกรรมการบริษัทโจทก์เพียงคนเดียว ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับบริษัทซูมิโตโมคอร์ปอเรชั่นและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยผู้เอาประกันภัยที่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว เมื่อคู่สัญญาซึ่งต่างก็ได้ปฏิบัติไปตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยมิได้มีข้อโต้แย้งคัดค้านโต้เถียงกันเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยแต่อย่างใดกรณีดังกล่าวจำเลยร่วมซึ่งมิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาประกันภัยนั้นหาอาจยกมาเป็นเหตุให้จำเลยร่วมหลุดพ้นจากความรับผิดไปได้ไม่ โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาฟ้องร้องผู้ทำละเมิดและจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยการขนส่งหม้อแปลงไฟฟ้าดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดได้ ฎีกาของจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share