แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ขอให้ริบทรัพย์ของกลางที่กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่าจำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก่อนหน้าคดีที่เสนอสู่ศาลนี้เมื่อปรากฏว่าของกลางดังกล่าวไม่ใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ หรือวัตถุอื่นซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำความผิด ซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่กระทำในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32,33(2) จึงไม่อาจริบได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 91 ริบเมทแอมเฟตามีน ธนบัตรและเหรียญต่าง ๆ 9,431 บาท สร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำ ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง เป็นความผิด 2 กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี และให้ริบเมทแอมเฟตามีนธนบัตรและเหรียญต่าง ๆ 9,431 บาท สร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายและจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 2 ปี6 เดือน รวมเป็นจำคุก 4 ปี 12 เดือน ไม่ริบธนบัตรและเหรียญต่าง ๆ 9,431บาท กับสร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำ ของกลาง โดยให้คืนของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจะพึงริบธนบัตรและเหรียญ 9,431 บาท สร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำ ของกลาง ได้หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้โจทก์ขอให้ริบทรัพย์ดังกล่าวโดยกล่าวอ้างมาในคำฟ้องและคำฟ้องฎีกาว่า เป็นทรัพย์ที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก่อนหน้านี้ โดยโจทก์อ้างอิงบทกฎหมายพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33(2) ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าของกลางดังกล่าว ไม่ใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ หรือวัตถุอื่นซึ่งได้ใช้การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำความผิดซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่กระทำในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33(2) จึงยังไม่อาจริบได้ตามขอศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน