คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2543/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาเป็นตัวแทนกับโจทก์ ส.ก็ไปเป็นพยานในสัญญานอกจากส. จะเป็นภริยาจำเลยที่ 2 และเป็นมารดาจำเลยที่ 3 แล้ว ยังใช้ชื่อ ส. เป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1และหัวกระดาษผัดหนี้ก็มีชื่อจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เชิด ส. ออกแสดงเป็นตัวแทนของตน
โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าแบตเตอรี่ที่จำเลยสั่งซื้อ จำเลยให้การว่าฟ้องขาดอายุความแล้วเพราะไม่ฟ้องภายใน 2 ปีข้อต่อสู้ของจำเลยอ้างเหตุชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองแล้ว เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับว่าจะต้องระบุอ้างมาตราในกฎหมายลงไปด้วย การที่จำเลยระบุเลขของอนุมาตราในมาตราเดียวกันนั้นคลาดเคลื่อนไป ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยในประเด็นข้อนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างใด แม้ในคำให้การจะอ้างมาตรา 165(2) แล้วต่อมาขอแก้เป็นมาตรา 165(1) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต จำเลยก็อ้างมาตรา 165(1)ขึ้นฎีกาได้
สัญญามีข้อความว่า โจทก์ตกลงขายแบตเตอรี่ให้แก่ผู้แทนจำหน่าย (จำเลย) เพื่อนำไปขายอีกต่อหนึ่ง เมื่อจำเลยต้องการซื้อเมื่อใด แบบใด จำนวนเท่าใดต้องแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า โดยมีใบสั่งซื้อหรือหนังสือสั่งซื้อเป็นหลักฐาน. ดังนี้ เป็นการซื้อขายแบตเตอรี่ระหว่างโจทก์จำเลยหาใช่สัญญาตัวแทนค้าต่างไม่ ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องโจทก์ผู้เป็นพ่อค้าเรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของคือแบตเตอรี่จากจำเลยจึงมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 165(1) เมื่อนับแต่วันส่งมอบของครั้งสุดท้ายก็ดี หรือนับแต่วันที่ตัวแทนจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงก็ดีนับถึงวันฟ้องคดีก็เกิน 2 ปีแล้ว ฟ้องจึงขาดอายุความตามมาตรา 165(1) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายแบตเตอรี่ของโจทก์ได้รับแบตเตอรี่ซึ่งเป็นสินค้าของโจทก์ไปขายหลายครั้ง มีหนี้ที่จำเลยที่ 1ค้างชำระจำนวนหนึ่งซึ่งตัวแทนของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือขอผัดผ่อนการชำระหนี้ไว้แล้วไม่ชำระ จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าว

จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้หลายประการและต่อสู้ด้วยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามฟ้อง

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า หนังสือผัดหนี้หมาย จ.31 ที่นางแสงจันทร์มีถึงโจทก์จะผูกพันจำเลยหรือไม่ ข้อนี้ได้ความว่า เมื่อจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายแบตเตอรี่กับโจทก์ จำเลยที่ 2ได้พานางแสงจันทร์ไปเป็นพยานในสัญญาด้วย นางแสงจันทร์ผู้นี้นอกจากจะเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 และเป็นมารดาของจำเลยที่ 3 แล้ว ยังมีชื่อของนางแสงจันทร์ตั้งเป็นชื่อของห้างจำเลยที่ 1 ด้วย พฤติการณ์และความสัมพันธ์ดังกล่าวเชื่อได้ว่านางแสงจันทร์ได้ดำเนินกิจการให้ห้างจำเลยที่ 1 ตลอดมาดังที่โจทก์นำสืบ ถือได้ว่าห้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้เชิดนางแสงจันทร์ออกแสดงเป็นตัวแทนของตน โดยเฉพาะหัวกระดาษหนังสือหมาย จ.31 ก็ระบุชื่อว่าเป็นกระดาษของ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด แสงจันทร์บริการ (จำเลย)” หนังสือนี้จึงมีผลผูกพันจำเลยโดยไม่จำต้องมีการมอบหมายให้นางแสงจันทร์เป็นตัวแทนของห้างดังที่จำเลยฎีกาขึ้นมา

ส่วนปัญหาที่ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) นั้น ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ว่าหนี้ที่โจทก์ฟ้องขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(2) เพราะโจทก์ไม่ฟ้องภายใน 2 ปีนับแต่สัญญาตั้งตัวแทนระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับลง ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การจากมาตรา 165(2) เป็นมาตรา 165(1) แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตโจทก์จึงแก้ฎีกาว่า เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้แก้ไขคำให้การแล้ว จำเลยจะฎีกาในประเด็นว่าเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) ไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าแบตเตอรี่ที่จำเลยสั่งซื้อตามสัญญาหมาย จ.1 และ จ.2 ข้อ 3 ท้ายฟ้องและยังค้างชำระเงินอยู่ จำเลยให้การต่อสู้ว่าหนี้โจทก์ฟ้องขาดอายุความแล้วเพราะไม่ฟ้องภายใน 2 ปี ข้อต่อสู้ของจำเลยในเรื่องอายุความอ้างเหตุชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองแล้ว เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับว่าจะต้องระบุอ้างมาตราในกฎหมายลงไปด้วยการที่จำเลยให้การระบุเลขของอนุมาตราในมาตราเดียวกันนั้นคลาดเคลื่อนไปไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยในประเด็นข้อนี้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด จำเลยจึงอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) ขึ้นฎีกาได้ ในปัญหาเรื่องอายุความนั้น ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยหมาย จ.1 และหมาย จ.2 เป็นสัญญาตัวแทนค่าต่าง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 แต่ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาหมาย จ.1 และ จ.2 ดังกล่าว ข้อ 3มีข้อความว่า

“องค์การแบตเตอรี่ (โจทก์) ตกลงขายแบตเตอรี่ตรา “เพาเวอร์” “เพาเวอร์ดี”และผลิตภัณฑ์ขององค์การแบตเตอรี่ให้แก่ผู้แทนจำหน่าย (จำเลย) เพื่อนำไปขายอีกต่อหนึ่ง

เมื่อผู้แทนจำหน่าย (จำเลย) ต้องการซื้อแบตเตอรี่และผลิตภัณฑ์ขององค์การแบตเตอรี่ (โจทก์) เมื่อใด แบบใด จำนวนเท่าใด ต้องแจ้งให้องค์การแบตเตอรี่ (โจทก์) ทราบล่วงหน้า โดยมีใบสั่งซื้อหรือหนังสือสั่งซื้อเป็นหลักฐาน”

ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นการซื้อขายแบตเตอรี่ระหว่างโจทก์จำเลยหาใช่สัญญาตัวแทนค้าต่างไม่ คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องโจทก์ผู้เป็นพ่อค้าเรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของคือแบตเตอรี่จากจำเลย จึงมีกำหนดอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) และนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2605/2520 ระหว่างบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด โจทก์ นายจือเค็ง แซ่ตันกับพวก จำเลย ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องและพยานหลักฐานของโจทก์ว่าโจทก์ได้ส่งแบตเตอรี่ที่จำเลยค้างชำระราคาอยู่ให้จำเลยในครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8กันยายน 2519 ตามใบส่งของหมาย จ.30 นับถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2522อันเป็นวันที่โจทก์ฟ้องเกิน 2 ปีแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) หนังสือขอผัดหนี้หมาย จ.31ที่นางแสงจันทร์มีถึงโจทก์ แม้จะมีผลผูกพันจำเลยดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นซึ่งถือได้ว่าตัวแทนของลูกหนี้ได้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยทำหนังสือรับสภาพให้และอายุความย่อมสะดุดหยุดลงก็ตาม แต่หนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.31 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2520 นับถึงวันฟ้องคดีก็เกิน 2 ปีแล้วฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)อีกเช่นกัน

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share