แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343และตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 ซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ ก็ไม่ตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะฟ้องคดีนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 126 วรรคสอง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันจัดหางานด้วยการประกอบธุรกิจจัดหางานโดยเรียกและรับเงินค่าบริการ โดยมิได้รับอนุญาตจัดหางานจากนายทะเบียนตามกฎหมายและจำเลยทั้งสองกับพวกโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงประชาชนทั่วไป ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ รับติดต่อ รับสมัครคนงานไปทำงานในต่างประเทศ ทำให้พวกผู้เสียหายหลงเชื่อมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกรวม 104,000 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 83, 91 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511มาตรา 7, 27 และให้จำเลยร่วมกันคืนเงิน 104,000 บาทแก่ผู้เสียหายทุกคน
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 จำคุกคนละ 5 ปี และผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7, 27 จำคุกคนละ 1 เดือน รวมจำคุกคนละ 5 ปี 1 เดือนและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 104,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า ผู้เสียหายได้ขอถอนคำร้องทุกข์ไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลย ดังปรากฏตามเอกสารที่จำเลยอ้างหมาย ล.1 แล้วก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7, 27 ซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว การถอนคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายดังกล่าว จึงไม่ตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะฟ้องคดีนี้ได้ ตามนัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 126 วรรคสอง ฉะนั้นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)
พิพากษายืน