คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2119/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลล่างฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 พนักงานขายของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็น หุ้นส่วนผู้จัดการ ปฏิเสธการจำหน่ายปูนซิเมนต์ให้แก่ผู้ซื้อเพียง 1 ถุง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติ กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 มาตรา 30 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสาม คืนปูนซิเมนต์ทั้งหมดที่อยู่ในห้างซึ่งเป็นของกลางแก่เจ้าของ ดังนั้นที่จำเลยทั้งสามฎีกา ว่าจำเลยไม่มีเจตนาปฏิเสธการจำหน่าย และจำเลยปฏิเสธการจำหน่ายโดยมีเหตุผลอันสมควรก็ดี หรือจำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วยในการกระทำของจำเลยที่ 3 ก็ดี จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 มาตรา 30, 45 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 8,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ6 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี คืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ ให้จ่ายเงินรางวัลนำจับแก่ผู้จับร้อยละ 30 ของค่าปรับ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ‘คดีนี้เป็นคดีที่ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติ มาตรา 218 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

จำเลยทั้งสามฎีกาในข้อ ก. ว่า จำเลยไม่มีเจตนาปฏิเสธการจำหน่ายและการที่จำเลยที่ 3 ปฏิเสธไม่ขายปูนซิเมนต์ตราเสือจำนวน 1 ถุง แต่ได้เสนอขายปูนซิเมนต์ตราดอกจิกแก่ผู้ซื้อ เป็นการกระทำที่มีเหตุผลอันสมควรจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้ ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันมาว่าจำเลยที่ 3 ปฏิเสธการจำหน่ายปูนซิเมนต์ให้แก่นายสุพจน์ซึ่งขอซื้อเพียง 1 ถุง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรอันครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522 นั้นอยู่แล้ว ดังนั้นที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าจำเลยไม่มีเจตนาปฏิเสธการจำหน่าย และจำเลยปฏิเสธการจำหน่ายโดยมีเหตุผลอันสมควรนั้น จึงเป็นฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

จำเลยทั้งสามฎีกาในข้อ ข. ว่าจำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นหรือร่วมกับจำเลยที่ 3 ในการปฏิเสธการจำหน่าย ทั้งได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นแล้วว่า จำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วยในการกระทำนั้นแล้วด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ควรต้องรับผิดด้วยกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ศาลฎีกาเห็นว่าฎีกาในข้อนี้ก็เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย’

พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลยทั้งสาม

Share