แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์เพิ่งจะมีอำนาจปกครองร่วมกับจำเลยก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพียงเดือนเศษ ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยมีข้อความว่า ‘ข้าพเจ้านายชัยแสง (โจทก์) ยอมรับเป็นผู้อุปการะส่งเสียบุตรทั้ง3 คน ให้เล่าเรียนจนกว่าจะสำเร็จ ตามความสามารถของแต่ละคน โดยจะส่งเข้าโรงเรียนประจำกินนอน’ ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยยอมสละอำนาจปกครองบุตรแล้วโดยปริยาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน 3 คน และโจทก์ได้จดทะเบียนรับรองบุตรทั้ง 3 คนแล้ว ต่อมาได้เลิกอยู่กินฉันสามีภริยาโดยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยโจทก์รับเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้ง 3 คน หลังจากนั้น จำเลยได้แอบรับบุตร 2 คนไปเสียจากโจทก์ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยนำบุตรทั้งสองคนคืนโจทก์ และห้ามเกี่ยวข้องเกินกว่าการเยี่ยมเยียนธรรมดา
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้ตกลงให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงแต่ให้โจทก์เป็นฝ่ายส่งเสียค่าเล่าเรียนให้แก่บุตรเท่านั้น อำนาจปกครองบุตรทั้งสามคนยังเป็นของจำเลยตามเดิม บุตรทุกคนสมัครใจอยู่กับจำเลย ขณะนี้โจทก์มีภริยาใหม่แล้วที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยแอบไปรับบุตร 2 คนแล้วไม่ยอมส่งคืนเป็นความเท็จ จำเลยให้การเลี้ยงดูและให้การศึกษาได้เป็นอย่างดี โจทก์ไม่มีสิทธิจะฟ้องเรียกเด็กไปจากปกครองของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 100 บาท แทนจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 100 บาทแทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสเกิดบุตรด้วยกัน 3 คน ขณะโจทก์ฟ้อง (วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2523) บุตรมีอายุ 12 ปี9 ปี และ 6 ปี ตามลำดับ โจทก์เพิ่งไปจดทะเบียนรับรองบุตรทั้งสามต่อหัวหน้าเขตพระโขนงเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2522 ต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2522 โจทก์จำเลยก็ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเลิกอยู่กินฉันสามีภรรยากันต่อไป สัญญาดังกล่าวปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ข้อ 1 มีความว่า “ข้าพเจ้านายชัยแสง ยอมรับเป็นผู้อุปการะส่งเสียบุตรทั้ง 3 คน ให้เล่าเรียนจนกว่าจะสำเร็จ ตามความสามารถของแต่ละคน โดยจะส่งเข้าโรงเรียนประจำกินนอน” เห็นได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายที่มีอำนาจปกครองบุตรแต่ฝ่ายเดียวตลอดมาตั้งแต่บุตรเกิด โจทก์เพิ่งจะมีอำนาจปกครองร่วมกับจำเลย เมื่อจดทะเบียนรับรองบุตรก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพียงเดือนเศษเท่านั้น จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะคิดเห็นไปว่า จำเลยยอมสละอำนาจปกครองบุตรทั้งหมดให้แก่โจทก์ฝ่ายเดียว ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวไม่อาจแปลเลยไปถึงขนาดที่ว่า จำเลยยอมสละอำนาจปกครองบุตรแล้วโดยปริยายดังที่โจทก์ฎีกาอำนาจปกครองบุตรเป็นอำนาจที่มีความสำคัญมาก เมื่อไม่ได้ตกลงให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่า จำเลยยอมสละอำนาจดังกล่าวให้แก่โจทก์ฝ่ายเดียว โจทก์จะขอให้ศาลบังคับให้จำเลยส่งบุตรคืนไม่ได้ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน จำเลยไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความให้