คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2517

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเรื่องจำเลยออกเช็คโดยไม่มีเงินว่าประสงค์จะขอแจ้งเป็นหลักฐาน ไม่ประสงค์จะมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลยและโจทก์ร่วมขอรับเช็คคืนไปติดต่อทำความตกลงกับจำเลยอีกครั้ง ถ้าหากตกลงไม่ได้จะมามอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีไป เช่นนี้เป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้จำคุก 4 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2514 ที่โจทก์ร่วมไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2514 นั้นไม่ใช่เป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ร่วมไม่ร้องทุกข์ต่อเจ้าพน้าที่ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2514 เจ้าหน้าที่บันทึกคำแจ้งความในรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันของสถานีตำรวจมีข้อความว่า “วันที่ 3 พ.ค. 14 17.20 นาฬิกา แจ้งออกเช็คไม่มีเงินยังไม่ประสงค์ดำเนินคดี นางทวีวรรณ (โจทก์ร่วม) ฯลฯ แจ้งว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2513 นายบุญเลิศ (จำเลย) ฯลฯ ได้ยืมเงินสดไปจากผู้แจ้ง ได้มอบเช็ค ฯลฯ สั่งจ่ายเงินจำนวน 40,000 บาท ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2514 มอบให้ผู้แจ้งไว้ ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2514 ผู้แจ้งได้นำเช็คเข้าบัญชีของผู้แจ้งที่ธนาคารกรุงเทพ สาขากล้วยน้ำไท เพื่อเรียกเก็บเงิน ต่อมาวันที่ 3กุมภาพันธ์ 2514 ผู้แจ้งได้รับแจ้งจากธนาคารว่าได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ทำให้ผู้แจ้งได้รับความเสียหาย ผู้แจ้งมีความประสงค์จะขอแจ้งเป็นหลักฐานโดยไม่ประสงค์จะมอบคดีให้เจ้าพนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับนายบุญเลิศ (จำเลย) โดยผู้แจ้งขอรับเช็คคืนไปติดต่อทำความตกลงกับนายบุญเลิศ (จำเลย) อีกครั้ง ถ้าหากตกลงไม่ได้จะมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ฯลฯ จึงได้มอบเช็คดังกล่าวคืนไป”

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (7) บัญญัติว่า “คำร้องทุกข์ หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ”

ศาลฎีกาเห็นว่า การกล่าวหาที่ได้กล่าวโดยเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษเป็นคำกว้าง ๆ การที่โจทก์ร่วมได้แจ้งว่าจำเลยออกเช็คไม่มีเงินนั้น เห็นได้ว่าโจทก์ร่วมมีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษ จึงได้แจ้งความไว้ ทั้งในบันทึกก็ปรากฏความว่าโจทก์ร่วมมีความประสงค์ขอแจ้งเป็นหลักฐาน ส่วนที่โจทก์ร่วมขอรับเช็คคืนไปเพื่อติดต่อทำความตกลงกับจำเลยอีกครั้ง ถ้าหากตกลงไม่ได้จะมามอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไปนั้น มิได้ทำให้การแจ้งกล่าวหาของโจทก์ร่วมดังกล่าวนั้นสิ้นสภาพจากเป็นการร้องทุกข์ไม่ การที่มีข้อความในบันทึกว่าไม่ประสงค์จะมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลยนั้น หมายความว่าในขณะแจ้งยังไม่ประสงค์ให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีกับจำเลย โดยโจทก์ร่วมขอไปทำความตกลงกับจำเลยก่อนอีกครั้ง ตกลงได้ก็ไม่ต้องดำเนินคดี ถ้าตกลงไม่ได้ก็จะมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไปนั่นเอง เหตุผลที่ปรากฏในการแจ้งความของโจทก์ร่วมต่อพนักงานสอบสวนมีเช่นนี้เป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว คดีไม่ขาดอายุความที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำร้องทุกข์เช่นนี้ไม่ใช่คำร้องทุกข์ตามกฎหมายนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่

จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยนัยที่กล่าวข้างต้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี”

Share