คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2095/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นการเพิ่มเติมชื่อโจทก์ที่จะต้องระบุไว้แน่ชัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 เข้ามาในภายหลัง จึงเป็นการเพิ่มจำนวนผู้เป็นโจทก์เข้ามาในคำฟ้องเดิม มิใช่เป็นเรื่องขอแก้ไขคำฟ้องตามนัยบทกฎหมายดังกล่าว คำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลแต่อย่างใด เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าโจทก์เป็นคณะบุคคลตามกฎหมายใช้ชื่อว่า “คณะบุคคลกำชัย-มณฑา” ซึ่งเป็นเพียงคณะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่รวมกันเป็นหน่วยภาษีตามประมวลรัษฎากรเท่านั้น มิใช่นิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์จึงมิใช่บุคคลธรรมดาและมิใช่นิติบุคคลอันอาจเป็นคู่ความในคดีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กับให้จำเลยคืนเงินภาษีเพิ่ม เงินเพิ่มและเบี้ยปรับ ที่โจทก์ชำระไปแล้วจำนวน 328,182 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยได้รับเงินไปจนกว่าจำเลยจะคืนให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิขอคืนเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องในส่วนของผู้เป็นโจทก์ว่า ในการยื่นฟ้องคดีนี้นายกำชัย สารสาส กระทำการในฐานะผู้จัดการโจทก์ ในฐานะส่วนตัว และในฐานะผู้รับมอบอำนาจของนางสาวมณฑา ไชยะวัฒน ด้วย โดยนางสาวมณฑาได้มอบอำนาจให้นายกำชัยเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทน ซึ่งศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องได้ ศาลฎีกาเห็นว่าการแก้ไขคำฟ้องนั้นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2539มิได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะดังนั้น จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 17 ซึ่งการแก้ไขคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 จะต้องเป็นการแก้ไขข้อหาข้ออ้างที่มีต่อจำเลย อันกล่าวไว้ในคำฟ้องที่เสนอต่อศาลแต่แรก โดยการเพิ่มหรือลดทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือสละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อหรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ แต่คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการเพิ่มเติมชื่อโจทก์ที่จะต้องระบุไว้แน่ชัดตามมาตรา 67 เข้ามาในภายหลัง จึงเป็นการเพิ่มจำนวนผู้เป็นโจทก์เข้ามาในคำฟ้องเดิม มิใช่เป็นเรื่องขอแก้ไขคำฟ้องตามนัยบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องฉบับดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายคำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผลแต่อย่างใด และเมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า โจทก์เป็นคณะบุคคลตามกฎหมายใช้ชื่อว่า “คณะบุคคลกำชัย-มณฑา” ประกอบด้วยนายกำชัย สารสาส กับนางสาวมณฑาไชยะวัฒน โดยมีนายกำชัยเป็นผู้จัดการคณะบุคคลมีอำนาจกระทำการแทนคณะบุคคลได้ นายกำชัยในฐานะผู้จัดการคณะบุคคลได้ลงชื่อเป็นผู้แต่งทนายความมอบหมายให้ทนายความยื่นฟ้องจำเลย ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2539 มิได้บัญญัติถึงผู้ที่จะเป็นคู่ความไว้ ดังนั้น จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 17 ซึ่งผู้ที่จะเป็นคู่ความในคดี กล่าวคือ เป็นผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาลได้นั้น จะต้องเป็นบุคคลดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(11) ว่า “คู่ความ” หมายความว่าบุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล และคำว่าบุคคลนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สำหรับคณะบุคคลกำชัย-มณฑานั้น เป็นเพียงคณะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่รวมกันเป็นหน่วยภาษีตามประมวลรัษฎากรทั้งนี้เพื่อยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเสมือนเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียว โดยบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินของคณะบุคคลนั้นเพื่อเสียภาษีอีก เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการจดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งลักษณะ 22 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1015 โจทก์จึงไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย นอกจากนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่านายกำชัยและนางสาวมณฑาฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว ผู้เป็นโจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่บุคคลธรรมดาเช่นกัน เมื่อโจทก์มิใช่บุคคลธรรมดาและมิใช่นิติบุคคลย่อมไม่อาจเป็นคู่ความในคดีได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกเป็นข้อต่อสู้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และ 142(5) เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ในปัญหาอื่นของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”

พิพากษายืน

Share