คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7978/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 นำทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสไปจำนองแก่ธนาคารจำเลยที่ 2 โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476(1) แต่จำเลยที่ 2 กลับรับจำนองไว้ โดยอ้างว่า ว. ซึ่งเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของจำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมแล้ว ย่อมถือได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำนิติกรรมจำนองโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง
บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดแบ่งทรัพย์สินที่ให้จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทนั้นเป็นสัญญาระหว่างสมรสตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแก่ จำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 1469 ซึ่งการที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอหย่า และขอแบ่งสินสมรส และศาลแพ่งกรุงเทพใต้เห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิ บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแล้ว อันเป็นการใช้สิทธิบอกล้างในขณะที่ โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังเป็นสามีภริยากัน ดังนั้น เมื่อโจทก์บอกล้างสัญญา ระหว่างสมรสแล้ว ย่อมทำให้สัญญาดังกล่าวสิ้นความผูกพัน ทำให้ ทรัพย์พิพาทกลับเป็นสินสมรสดังเดิม และเมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้อง ต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาใหม่ภายในกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง จึงต้องถือว่าขณะฟ้องคดีนี้ข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดแบ่งทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสัญญาระหว่าง สมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้สิ้นผลแล้ว ทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินสมรส อยู่ขณะฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
การขอให้เพิกถอนนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 คู่สมรสต้องขอเพิกถอนนิติกรรมทั้งหมดจะเพิกถอนเฉพาะส่วนหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายมีสินสมรส คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 256 เนื้อที่ 40 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์เลขที่ 500 จำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และจำเลยที่ 2 กระทำการโดยไม่สุจริตเพราะรู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 มีคู่สมรส สัญญาจำนองจึงไม่สมบูรณ์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์รู้ถึงการทำนิติกรรมจำนองดังกล่าว จึงได้ฟ้องขอให้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้เพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นแล้ว แต่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้อง เพราะไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา เนื่องจากคดีอยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวโจทก์จึงนำคดีมาฟ้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 256 แขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสามเพ็ง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2536ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์รู้เห็นยินยอมในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจำนองตามฟ้องมาแต่ต้น และโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาระหว่างสมรสยอมให้จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง โดยโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต อย่างไรก็ตามโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันรู้เหตุเพิกถอน ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายคือ นางวิพรอาภาวศิน ไม่ใช่โจทก์ จำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินตามฟ้องเพราะเชื่อโดยสุจริตตามที่จำเลยที่ 1 แจ้งว่ามีนางวิพรเป็นภริยา จำเลยที่ 2 กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 256 แขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสามเพ็ง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2536 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทตามฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีภริยากัน ต่อมาคนทั้งสองแยกกันอยู่แต่มิได้จดทะเบียนหย่า แล้วจำเลยที่ 1 ได้นางวิพรเป็นภริยาใหม่ ครั้นวันที่ 15 มิถุนายน 2536 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองทรัพย์ดังกล่าวเป็นประกันหนี้เงินกู้จำนวน 8,000,000 บาท ไว้แก่จำเลยที่ 2 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และคำแก้ฎีกาจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองมีนางสาวสมปอง ภู่แกมแก้ว พนักงานของจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานว่า จำเลยที่ 2 ตกลงให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินและจดทะเบียนจำนองโดยมีการให้ความยินยอมของคู่สมรสถูกต้อง เนื่องจากจำเลยที่ 1 และนางวิพรอ้างว่าเป็นสามีภริยากันปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.6 แต่ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์และนายชัชวาลย์ โอตรวรรณะ พยานโจทก์ซึ่งเป็นบุตรโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ได้นางวิพรเป็นภริยาใหม่แล้ว โจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 แบ่งสินสมรสระหว่างกันตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินในตระกูลโอตรวรรณะ เอกสารหมาย ล.4 หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 ได้ประกาศขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ โจทก์สงสัยในพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 จึงดำเนินการตรวจสอบเรื่องราวที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กับนางวิพรนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ไว้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่ทราบเรื่องและมิได้ให้ความยินยอมมาก่อน เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 นำทรัพย์พิพาทตามฟ้องซึ่งเป็นสินสมรสไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1476(1) แต่จำเลยที่ 2 กลับรับจำนองไว้ โดยอ้างว่านางวิพรซึ่งเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของจำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมแล้วย่อมถือได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำนิติกรรมจำนองดังกล่าวโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองดังกล่าวเสียได้ตาม มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง สำหรับเรื่องข้อตกลงเกี่ยวกับสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดแบ่งทรัพย์สินในตระกูลโอตรวรรณะ เอกสารหมาย ล.4 นั้น แม้จะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่ก็มีลักษณะเป็นสัญญาระหว่างสมรสเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ด้วย เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่าโจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแก่จำเลยที่ 1 ตามที่มาตรา 1469 ให้อำนาจไว้ได้การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นขอหย่าและแบ่งสินสมรสตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 773/2537และจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำให้การแก้คดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537 แล้วต่อมาโจทก์ได้ยื่นฟ้องให้เพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2537 โดยจำเลยทั้งสองเข้าต่อสู้คดีแล้ว แต่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเป็นคดีครอบครัวไม่อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่จะพิจารณาพิพากษา ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแล้วตั้งแต่ยื่นฟ้องขอหย่าและแบ่งสินสมรสต่อศาลชั้นต้น หรือตั้งแต่วันที่ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นอย่างช้า จึงเป็นการใช้สิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสดังกล่าวภายในกำหนดขณะที่โจทก์และจำเลยที่ 1ยังคงเป็นสามีภริยาตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1469 ดังกล่าว เมื่อโจทก์บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแล้ว ย่อมมีผลให้บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดแบ่งทรัพย์สินในตระกูลโอตรวรรณะ เอกสารหมาย ล.4 ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างสมรสนั้นสิ้นความผูกพัน ทำให้ทรัพย์พิพาทกลับเป็นสินสมรสดังเดิม ดังนั้นเมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาใหม่ภายในกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง ต้องถือว่าขณะฟ้องคดีนี้ข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดแบ่งทรัพย์สินในตระกูลโอตรวรรณะ เอกสารหมาย ล.4 ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างสมรสได้สิ้นผลแล้ว ทรัพย์พิพาทตามฟ้องจึงเป็นสินสมรสอยู่ขณะฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาจำเลยที่ 2 ว่า นิติกรรมจำนองยังคงสมบูรณ์ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า การขอให้เพิกถอนนิติกรรมตามมาตรา1480 คู่สมรสต้องขอเพิกถอนนิติกรรมทั้งหมดจะเพิกถอนเฉพาะส่วนหาได้ไม่ คำแก้ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share