คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1086/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยอุทธรณ์คำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคารตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองข้อ 3 วางไว้ว่า ต้องทำคำร้องเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและที่อยู่ให้ชัดเจน ชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลที่อุทธรณ์ยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับหรือทราบคำสั่งดังนี้ การที่โจทก์ได้ทำคำร้องเป็นหนังสือโดยมีตัวแทนโจทก์ผู้รับมอบอำนาจลงชื่อในหนังสือและได้ระบุที่อยู่สำหรับติดต่อไว้ชัดเจนมีข้อความด้วยว่า โจทก์ในฐานะเจ้าของอาคาร ชี้แจงว่าสภาพของอาคารโจทก์ไม่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมจนไม่อาจแก้ไขได้แต่อย่างใด ขอให้พิจารณายกเลิกคำสั่งรื้อถอนอาคารของเทศบาลนครกรุงเทพ ย่อมถือว่าเป็นอุทธรณ์คำสั่งครบถ้วนตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยแล้ว
การยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวต่อนายกเทศมนตรีนครกรุงเทพ ถือได้เท่ากับยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว

ย่อยาว

คดีทั้ง 6 สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณาพิพากษา

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ.2510 จำเลยได้ตั้งคณะกรรมการรื้อถอนอาคารซึ่งตั้งอยู่ริมถนนพะเนียง ตำบลวัดโสมนัส อำเภอป้องปราบฯ จังหวัดพระนคร แล้วเรียกพวกโจทก์ไปบังคับให้ยอมรับค่ารื้อถอนด้วยจำนวนเงินเพียงค่าแรงงานรื้อถอนก็ไม่พอ โจทก์ไม่ยอม ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2510 จำเลยบังอาจใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ออกคำสั่ง ทนก.12/9010 ให้เจ้าของบ้านรวมทั้งพวกโจทก์รื้อถอนบ้านไป ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2503

โจทก์ทั้งหมดยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของจำเลย โดยผ่านจำเลยไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระหว่างกำลังอยู่ในการวินิจฉัยนั้น ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2501 จำเลยแจ้งกำหนดการรื้อถอนมายังโจทก์เพื่อให้จัดการ ถ้าไม่รื้อจำเลยจะรื้อเอง โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยเป็นการมิชอบ เพราะบ้านโจทก์ไม่มีสภาพเป็นที่น่ารังเกียจ โจทก์ไม่เคยได้รับคำสั่งให้แก้ไขคำสั่งของจำเลยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลไม่ใช่ประโยชน์ส่วนรวม ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของเทศบาลนครกรุงเทพที่สั่งให้รื้อถอนบ้านโจทก์เสีย

จำเลยให้การทุกสำนวนเป็นอย่างเดียวกันว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ตั้งกรรมการไปตรวจสภาพอาคารของโจทก์แล้ว มีความเห็นว่า สภาพของอาคารพิพาทอยู่ในสภาพอันเป็นที่น่ารังเกียจ ไม่อาจแก้ไขได้ก่อนที่จำเลยจะดำเนินการกับโจทก์ จำเลยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่โจทก์ คณะกรรมการขอให้โจทก์ไปพบเพื่อทำการตกลงขอให้รื้อถอนอาคาร โดยจะช่วยเหลือจ่ายเงินค่าตอบแทน แต่โจทก์ไม่ประสงค์รับ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีคำสั่งให้โจทก์รื้อถอนอาคารพิพาทไป โจทก์ทราบแล้วไม่ปฏิบัติ จำเลยจึงแจ้งให้โจทก์ทราบถึงกำหนดวันที่จำเลยจะเข้ารื้อถอน คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่มิได้ปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่เป็นอุทธรณ์คำสั่งตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2503

ก่อนสืบพยานโจทก์ โจทก์แถลงรับว่าโจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยนำไปยื่นที่กระทรวงมหาดไทยไม่ได้ยื่นผ่านจำเลยไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามเอกสารหมาย จ.1 เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ทำบันทึกส่งไปยังจำเลย ในวันเดียวกันโจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 จำเลยแถลงรับว่า ได้รับเอกสารหมาย จ.2 จริง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า อุทธรณ์คำสั่งตามเอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์ยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น ขาดสารสำคัญที่จะเป็นอุทธรณ์คำสั่ง ส่วนเอกสารหมาย จ.2 ที่โจทก์ยื่นต่อจำเลยนั้น มิใช่เป็นอุทธรณ์คำสั่ง จึงถือว่าโจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยจึงไม่ต้องรอการวินิจฉัยชี้ขาดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและไม่จำต้องรอการรื้อถอนไว้ความเห็นของคณะกรรมการที่สั่งให้โจทก์รื้อถอนอาคารเป็นการชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้ง 6 สำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า การปฏิบัติของโจทก์ถือได้ว่าโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และมีข้อความครบถ้วนต่อจำเลย ชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยแล้ว จำเลยจำต้องรอการรื้อถอนอาคารให้รัฐมนตรีวินิจฉัยเสียก่อน พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้เทศบาลนครกรุงเทพรอการรื้อถอนอาคารตามคำสั่งไว้ก่อน

จำเลยทั้ง 6 สำนวนฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า เกี่ยวกับอุทธรณ์คำสั่งนี้ มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอุทธรณ์คำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดฯ พ.ศ.2503 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2504 ข้อ 3 วางไว้ว่า ต้องทำคำร้องเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและที่อยู่ให้ชัดเจน ชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลที่อุทธรณ์ยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายใน 15 วันนับแต่ได้รับหรือทราบคำสั่ง ดังนี้ เห็นว่า เอกสารศาลหมาย จ.2 มีลักษณะเป็นอุทธรณ์คำสั่งต้องตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยแล้ว เพราะได้ทำคำร้องเป็นหนังสือ โดยมีนายประสิทธิ์ ต่อประดิษฐ์ ตัวแทนโจทก์ผู้รับมอบอำนาจลงชื่อในหนังสือนั้น และได้ระบุที่อยู่สำหรับติดต่อไว้ชัดส่วนข้อเท็จจริงและเหตุผลที่อุทธรณ์ ก็ให้รายละเอียดไว้ว่า เนื่องจากเทศบาลได้มีคำสั่งให้เจ้าของอาคารซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนพะเนียงรื้ออาคารออกไปจากที่ดินที่เช่าของวัดโสมนัสวรวิหารภายในกำหนด 30 วัน โจทก์ในฐานะเจ้าของอาคาร ชี้แจงว่าสภาพของอาคารโจทก์ไม่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมจนไม่อาจแก้ไขได้แต่อย่างใด หากทางเทศบาลต้องการให้แก้ไขอย่างใดแล้ว โจทก์ทุกคนยินดีจะให้ความร่วมมือกับเทศบาล แม้จะรื้อถอนอาคารออกไปแล้วปลูกสร้างอาคารขึ้นใหม่ จะปฏิบัติตามแต่ทั้งนี้ไม่ใช่จะให้รื้อถอนไปแล้วให้ผู้รับเหมาก่อสร้างมาปลูกอาคารพาณิชย์โดยหวังเงินกินเปล่าจากผู้เช่าเดิม ขอให้พิจารณายกเลิกคำสั่งดังกล่าว ทั้งยังได้ให้หัวข้อเรื่องไว้ว่า “เรื่องอุทธรณ์คำสั่งรื้อถอนอาคารของเทศบาลนครกรุงเทพฯ ฉะนั้นแล้ว เอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นอุทธรณ์คำสั่งที่ครบถ้วนตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยแล้ว คดีไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย จ.1 เป็นอุทธรณ์คำสั่งที่ขาดสารสำคัญหรือไม่

ในปัญหาที่ว่า การยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งตามหมาย จ.2 ของโจทก์นั้น เป็นการชอบด้วยระเบียบของกระทรวงมหาดไทยหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การยื่นของโจทก์เป็นการชอบด้วยระเบียบแล้ว เพราะการยื่นต่อนายกเทศมนตรีนครกรุงเทพนั้น ถือได้ว่าเป็นการยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้มีหน้าที่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งตามระเบียบที่วางไว้แล้ว จำเลยจะถือว่าเอกสารหมาย จ.2 ที่โจทก์ยื่นโจทก์ประสงค์ขอให้จำเลยสั่งหาได้ไม่ โดยได้กล่าวกลาง ๆ ไว้ว่าขอให้พิจารณายกเลิกคำสั่งเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานย่อมทราบดีว่าหน้าที่ของจำเลยในข้อนี้มีเพียงจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยข้อ 3 เท่านั้น หามีอำนาจสั่งไม่

พิพากษายืน

Share