คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 899/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การไม่ต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกำหนดในปีใดก็เป็นความผิดสำเร็จสำหรับปีนั้น คดีโจทก์สำหรับปีที่ จำเลยขาดต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวซึ่งอยู่ในระยะเกินกว่า 1 ปี ก่อนโจทก์ฟ้อง ย่อมขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(5) (อ้างฎีกาประชุมใหญ่ที่ 942/2498)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นคนต่างด้าว มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวชนิดที่ 1 มีกำหนด 1 ปี ต่ออายุครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2503 หลังจากนั้นจำเลยไม่ขอต่ออายุอีกเลย ถึงปี พ.ศ. 2513 รวม 9 ปี ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 มาตรา 13, 20 พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2495 มาตรา 4

จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2495 มาตรา 4 แต่ความผิดสำหรับปี พ.ศ. 2504 ถึง ปี พ.ศ. 2512 ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(5) แล้ว จึงลงโทษปรับจำเลยสำหรับปีพ.ศ. 2513

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาต่อมาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ความผิดของจำเลยที่ไม่ต่ออายุใบสำคัญประจำตัว ปี พ.ศ. 2504 ถึง พ.ศ. 2513 เป็นความผิดต่อเนื่องกัน คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การไม่ขอต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกำหนดในปีใดก็เป็นความผิดสำเร็จสำหรับปีที่ขาดต่ออายุปีนั้น การที่จำเลยขาดต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวสำหรับปี พ.ศ. 2504 ถึงปี พ.ศ. 2512 ซึ่งอยู่ในระยะก่อนโจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า1 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95(5) ทั้งนี้ ตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 942/2498ซึ่งพิพากษาโดยที่ประชุมใหญ่ ส่วนที่พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว มาตรา 20 บัญญัติให้ปรับจำเลยเป็นรายปีนั้น เป็นเพียงกำหนดการลงโทษหาใช่เป็นบทบัญญัติลบล้างกำหนดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายอาญาไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share