แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยเป็นผู้จัดซื้ออาวุธปืนพกโดยนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามความต้องการของข้าราชการในสังกัดแล้วให้ต้นสังกัดของข้าราชการดังกล่าวหักเงินเดือนของข้าราชการผู้ประสงค์จะมีอาวุธปืนพกไว้ประจำกายใช้หนี้จนครบจำนวนนั้น เป็นกรณีที่จำเลยนำเข้าอาวุธปืนพกเพื่อจำหน่ายให้แก่ข้าราชการของจำเลยเป็นการส่วนตัวไม่เกี่ยวกับราชการ จึงไม่ถือว่าเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการอันจะได้รับการยกเว้นภาษีอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากร พ.ศ. 2530 มาตรา 5 จำเลยจึงต้องรับผิดเสียภาษีอากรให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศและป้องกันราชอาณาจักร จำเลยได้นำอาวุธปืนพกสำหรับประจำตัวนักบินจำนวน 4,855 กระบอก เป็นเงิน 30,172,804.38 บาทเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยได้ขอผ่อนผันรับของไปก่อนปฏิบัติพิธีการครบถ้วน โดยอ้างว่าของที่นำเข้าดังกล่าวเป็นยุทธภัณฑ์ ทางราชการมีความจำเป็นต้องนำไปใช้ราชการอย่างเร่งด่วน โดยขอใช้หนังสือของกรมการขนส่งทหารอากาศเป็นหลักประกันค่าอากรไว้เป็นการชั่วคราว ต่อมากระทรวงกลาโหมได้ขอยกเว้นค่าอากร โดยอ้างว่าเป็นยุทธภัณฑ์ใช้ในทางราชการ ตามบัญชียุทธภัณฑ์ ลำดับที่ 2 รายการ ค. โจทก์ที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า อาวุธปืนพกที่นำเข้า จำเลยได้นำเข้ามาเพื่อขายให้แก่ข้าราชการกองทัพอากาศ มิใช่นำมาเพื่อใช้ในราชการ จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับยกเว้นอากรตามประเภทที่ 13 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 แต่เป็นสินค้าที่จัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรที่ 9302.00 อัตรา 40% ต้องเสียภาษีอากร
โจทก์ที่ 1 ได้แจ้งให้จำเลยนำเงินค่าภาษีอากรไปชำระและปฏิบัติพิธีการศุลกากรสมบูรณ์ให้ถูกต้อง แต่จำเลยหาได้ชำระค่าภาษีอากรและปฏิบัติพิธีการศุลกากรสมบูรณ์ให้ถูกต้องไม่ เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ประเมินราคาสินค้าและภาษีอากรตามบัญชีราคาสินค้าดังกล่าวข้างต้น และคำนวณเงินเพิ่ม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 33,439,395 บาท ได้แจ้งการประเมินภาษีให้จำเลยนำเงินภาษีอากรจำนวนดังกล่าวไปชำระให้ครบถ้วน แต่จำเลยเพิกเฉยและจำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินหรือยื่นคำโต้แย้งภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินดังกล่าวดังนั้น ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจึงเป็นภาษีอากรค้างชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินภาษีอากรจำนวน 33,439,395 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนจากต้นเงิน 4,670,564 บาท 5,161,272 บาท และ 2,237,284 บาท ตามลำดับ เป็นรายเดือน นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า อาวุธปืนที่จำเลยนำเข้าเป็นกรณีที่จำเลยได้จัดหาอาวุธปืนพกให้แก่ข้าราชการที่มีสิทธิไว้ประจำกาย อันเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยตามที่กฎหมายบัญญัติ และอาวุธปืนดังกล่าวอยู่ในบัญชีรายการยุทธภัณฑ์ของกระทรวงกลาโหม เพื่อการผ่อนผันยกเว้นค่าอากรทางศุลกากร ลำดับที่ 2 ข้อ ค. ปืนพกชนิดและขนาดต่าง ๆ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบและอนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2521 การจัดหาอาวุธปืนไว้ประจำกายดังกล่าวเป็นเรื่องของทางราชการโดยแท้ อาวุธปืนดังกล่าวทุกกระบอกคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตลอดไป จึงอยู่ในความหมายของคำว่ายุทธภัณฑ์ตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2476 มาตรา 3 ประกอบเป็นการจัดหามาใช้ในราชการทหารโดยตรง จึงเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการ อันได้รับยกเว้นอากรตามภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ประเภท 13 โจทก์จึงไม่มีอำนาจประเมินภาษีอากรรายนี้เอาแก่จำเลยได้เพราะจำเลยเป็นหน่วยราชการ กิจการใดที่จะมีผลผูกพันกับจำเลยต้องอยู่ในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ ๆ กฎหมายระบุและการนำเข้ามาซึ่งอาวุธปืนเพื่อขายให้แก่ข้าราชการ หาใช่อำนาจหน้าที่ของจำเลยดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าภาษี จำนวน 33,439,395 บาท และเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนจากต้นเงิน 4,670,564 บาท 5,161,272 บาท และ 2,237,284 บาทตามลำดับ เป็นรายเดือน นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นส่วนราชการ สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด มีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2531 จำเลยได้นำอาวุธปืนพกรวม 4,855 กระบอก เข้ามาในราชอาณาจักร กระทรวงกลาโหมได้ขอยกเว้นอากรโดยอ้างว่าอาวุธปืนพกที่จำเลยนำเข้าเป็นยุทธภัณฑ์และกรมสรรพาวุธทหารอากาศได้ชี้แจงว่าเงินที่ใช้ในการจัดซื้อเป็นเงินนอกงบประมาณประเภทที่ 2 ของกองทัพอากาศ ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 244 เงินนอกงบประมาณดังกล่าวเป็นเงินของข้าราชการที่มีความประสงค์จะซื้ออาวุธปืนพกไว้ประจำตัว และอาวุธปืนพกดังกล่าวได้นำขึ้นบัญชีเป็นทรัพย์สินของทางราชการ แต่เมื่อครบ 5 ปีแล้ว ข้าราชการที่ซื้ออาวุธปืนพกไว้ดังกล่าวจะได้ไว้เป็นกรรมสิทธิ์ โจทก์ที่ 1 เห็นว่าการจัดซื้ออาวุธปืนพกดังกล่าวโดยใช้เงินนอกงบประมาณประเภทที่ 2 มิใช่เงินงบประมาณจึงไม่เป็นยุทธภัณฑ์ ไม่อาจยกเว้นอากรขาเข้าได้ มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยว่า อาวุธปืนพกที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้รับยกเว้นอากรหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 บัญญัติให้ของที่ได้รับยกเว้นอากร ประเภท 13 ได้แก่ยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการ การที่จำเลยเป็นผู้จัดซื้ออาวุธปืนพกที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามความต้องการของข้าราชการในสังกัดโดยใช้เงินที่ได้มาจากข้าราชการที่ประสงค์จะมีอาวุธปืนพกประจำกายไว้ใช้โดยให้ต้นสังกัดของข้าราชการดังกล่าวหักเงินเดือนของข้าราชการผู้นั้นใช้หนี้จนครบจำนวน และในการรับอาวุธปืนพกข้าราชการผู้ซื้อจะต้องนำใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน (แบบ ป.3) ของนายทะเบียนท้องที่ไปขอรับอาวุธปืนพก เมื่อได้รับแล้วต้องนำไปขออนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) จากนายทะเบียนท้องที่ตามระเบียบ หากเป็นยุทธภัณฑ์ราชการแล้ว ข้าราชการหาจำต้องกระทำเช่นนั้นไม่ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ชัดว่าจำเลยนำเข้าอาวุธปืนพกดังกล่าวในการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายให้แก่ข้าราชการในสังกัดของจำเลย ถึงแม้ข้าราชการผู้ได้อาวุธปืนพกนั้นจะได้โอนอาวุธปืนดังกล่าวเป็นของจำเลยก็ตาม แต่ก็มีข้อแม้ว่าเมื่อครบกำหนด5 ปีแล้ว ข้าราชการผู้ซื้ออาวุธปืนพกดังกล่าวก็จะได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เช่นเดิม ทั้งกรณีนี้จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าการนำอาวุธปืนพกเข้ามาในราชอาณาจักรในลักษณะดังกล่าว เป็นการมอบให้แก่ข้าราชการทั่วไปเพื่อใช้ในราชการเท่านั้น แต่กลับปรากฏว่าจำเลยนำเข้าอาวุธปืนพก เพื่อจำหน่ายให้แก่ข้าราชการเฉพาะผู้ประสงค์จะมีอาวุธปืนพกเพื่อใช้และได้ใช้เงินซื้อเป็นของส่วนตัว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การนำเข้าอาวุธปืนพกของจำเลยดังกล่าวเป็นการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายให้แก่ข้าราชการของจำเลยเป็นการส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับส่วนราชการ ถือไม่ได้ว่าเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการจึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการยกเว้นอากรตามความในภาค 4 ประเภทที่ 13 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากร พ.ศ. 2530 ที่จำเลยอ้างว่า การนำอาวุธปืนพกมาจำหน่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ในสังกัดหาอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของจำเลยไม่ ย่อมไม่มีผลผูกพันจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นผู้นำเข้าอาวุธปืนพกดังกล่าว แม้จำเลยจะเป็นส่วนราชการแต่เมื่อจำเลยเป็นผู้นำเอาอาวุธปืนพกที่นำเข้าออกจำหน่ายให้แก่ข้าราชการที่ประสงค์ขอซื้อ มิใช่นำเข้าเพื่อใช้ในราชการโดยเฉพาะ จำเลยก็ต้องรับผิดเสียอากรตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน