คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 265/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายเตรียมข้อมูลของสถานบันบริการคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง และได้รับแต่งตั้งจากอธิบดีกรมตำรวจให้เป็นกรรมการตรวจข้อสอบและรวมคะแนนในการสอบแข่งขันข้าราชการตำรวจและบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิปริญญาตรีเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรและกรรมการได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการจัดทำแผ่นเฉลยและคุมเครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจให้คะแนน จำเลยที่ 1 ได้ทำการตรวจกระดาษคำตอบของผู้เข้าสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ผลการตรวจข้อสอบที่เครื่องคอมพิวเตอร์ปรากฏว่าไม่ตรงกับที่กองบัญชาการศึกษา กรมตำรวจ ได้แต่งตั้งกรรมการเพื่อตรวจกระดาษคำตอบของผู้สอบผ่านด้วยมือ โดยปรากฏว่ามีบุคคลสอบได้คะแนนน้อยกว่าที่เครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจและสอบไม่ผ่านข้อเขียน พยานโจทก์มีความเห็นว่าความผิดพลาดเรื่องผลการตรวจกระดาษคำตอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์น่าจะเกิดจากการทุจริต เพราะคะแนนที่ผิดพลาดดังกล่าวได้สูงขึ้นทั้งสามคน และคะแนนสูงขึ้นอย่างมีระบบคือคะแนนสูงขึ้นอยู่ในช่วงที่สอบได้ไม่สูงหรือต่ำกว่านั้น และการผิดพลาดไม่น่าจะเกิดจากการผิดพลาดของเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่เกิดจากการกระทำของบุคคลเป็นผู้กระทำโดยสั่งเครื่องคอมพิวเตอร์ให้พิมพ์คะแนนในกระดาษคำตอบและบันทึกเทปตามความต้องการไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1มาก่อน เชื่อว่าได้เบิกความและทำรายงานตามความเป็นจริง ทั้งมีพยานโจทก์อื่นเบิกความยืนยันว่าได้ส่งช่างผู้ชำนาญมาตรวจสอบบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุปรากฏว่าเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ในสภาพปกติจึงฟังได้ว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทำการตรวจข้อสอบอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ การที่จำเลยที่ 1 คุมเครื่องคอมพิวเตอร์ขณะตรวจข้อสอบอยู่เพียงผู้เดียวมีประสบการณ์และความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ ย่อมมีความสามารถที่จะแก้ไขโปรแกรมในการตรวจข้อสอบให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ จึงฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่าความผิดพลาดในการตรวจให้คะแนนในกระดาษคำตอบที่ผิดพลาดเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ได้ทำการตั้งโปรแกรมสั่งเครื่องคอมพิวเตอร์พิมพ์คะแนนลงในกระดาษคำตอบและบันทึกคะแนนลงเทปบันทึกข้อมูลซึ่งเป็นเอกสารราชการของกองบัญชาการศึกษา กรมตำรวจ ตามความต้องการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและมีหน้าที่ทำ และกรอกข้อความลงในเอกสารดังกล่าว ทำการแก้ไขเพิ่มเติมคะแนนลงในเอกสารดังกล่าวโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นและการแก้ไขคะแนนดังกล่าวเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่กองบัญชาการศึกษากรมตำรวจ กรรมการตรวจข้อสอบ ผู้เข้าสอบและประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และ 265 การที่จำเลยที่ 1มอบกระดาษคำตอบซึ่งตรวจแล้วและเทปบันทึกข้อมูลให้แก่กรรมการตรวจข้อสอบไปดำเนินการต่อไปในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่กองบัญชาการศึกษากรมตำรวจ ผู้เข้าสอบและประชาชน จึงมีความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 265 และเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กองบัญชาการศึกษา กรมตำรวจ ผู้เข้าสอบและประชาชนและปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่เมื่อพยานโจทก์ทั้งสามปากไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 ทั้งไม่มีเหตุสงสัยว่าพยานจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 คำพยานดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143, 149, 157, 161, 265, 268, 83, 86, 33, 34 ริบเอกสารปลอมและเงิน 150,000 บาท ของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 161, 265, 268 (ที่ถูกมาตรา 268 วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 265ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง), 157 เป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 5 ปี ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุก 9 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 รวม 2 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ริบเอกสารปลอมและเงิน 150,000 บาท ที่ได้มาจากการกระทำความผิดของกลาง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 29กันยายน 2534 กองบัญชาการศึกษา กรมตำรวจ ได้จัดให้มีการคัดเลือกด้วยวิธีสอบและสอบแข่งขันข้าราชการตำรวจและบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิปริญญาตรีเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ปี 2534 จำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายเตรียมข้อมูลของสถาบันบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงและได้รับแต่งตั้งจากอธิบดีกรมตำรวจให้เป็นกรรมการตรวจข้อสอบและรวมคะแนนในการสอบดังกล่าว และกรรมการได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการจัดทำแผ่นเฉลยและคุมเครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจให้คะแนนตามคำสั่งเอกสารหมาย จ.1 และ จ.6จำเลยที่ 2 เป็นพี่เขยของจำเลยที่ 1 วันที่ 29 กันยายน 2534 จำเลยที่ 1 ได้ทำการตรวจกระดาษคำตอบของผู้เข้าสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สถาบันบริการคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผลการตรวจข้อสอบที่เครื่องคอมพิวเตอร์ ปรากฏว่านายภคพัทธ์ ขันทอง ทำข้อสอบถูก 114 ข้อ นายสุวัจชัย รัตนจินดา ทำข้อสอบถูก 115 ข้อ นายวินิต โสมทอง ทำข้อสอบถูก 116 ข้อ เป็นเหตุให้นายภคพัทธ์และนายสุวัจชัยสอบผ่านข้อเขียนสายสอบสวน และนายวินิจสอบผ่านข้อเขียนสายปราบปราม ต่อมากองบัญชาการศึกษา กรมตำรวจ ได้แต่งตั้งกรรมการเพื่อตรวจกระดาษคำตอบของผู้สอบผ่านด้วยมืออีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าบุคคลทั้งสามสอบได้คะแนนน้อยกว่าที่เครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจและสอบไม่ผ่านข้อเขียน โดยนายภคพัทธ์ทำข้อสอบถูกจริงเพียง 80 ข้อ นายสุวัจชัยทำข้อสอบถูกจริงเพียง 72 ข้อ และนายวินิตทำข้อสอบถูกจริงเพียง 70 ข้อ และสอบไม่ผ่านมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษหรือไม่ พยานโจทก์คือพันตำรวจตรีธีรวัฒน์กุสลางกูรวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายระบบงานคอมพิวเตอร์ของบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ จำกัด เบิกความยืนยันว่าพยานกับพวกตรวจดูผลคะแนนแล้วมีความเห็นว่า ความผิดพลาดเรื่องผลการตรวจกระดาษคำตอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์น่าจะเกิดจากการทุจริต เพราะคะแนนที่ผิดพลาดดังกล่าวได้สูงขึ้นทั้งสามคน และคะแนนสูงขึ้นอย่างมีระบบคือคะแนนสูงขึ้นอยู่ในช่วงที่สอบได้ไม่สูงหรือต่ำกว่านั้น เมื่อไปทำการตรวจเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ตรวจข้อสอบ พยานกับพวกได้นำม้วนเทปในการตรวจข้อสอบจริงเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์และเรียกข้อมูลเฉพาะของนายภคพัทธ์นายสุวัจชัย นายวินิต และข้อมูลผู้ที่อยู่ลำดับเหนือขึ้นไป 10 คน ถัดลงไป 10 คนมาเป็นข้อมูลในการตรวจสอบ หลังจากนั้นจะนำข้อสอบบุคคลเหล่านี้มาตรวจด้วยมืออีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผลการตรวจด้วยมือปรากฏว่าคะแนนรายข้อของผู้เข้าสอบคนอื่นตรงกับคะแนนที่ตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏอยู่ในกระดาษคำตอบ ยกเว้นคะแนนของนายภคพัทธ์ นายสุวัจชัย และนายวินิต ที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนที่ตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ พยานกับพวกเห็นว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวสามารถใช้งานได้ดี และการผิดพลาดไม่น่าเกิดจากการผิดพลาดของเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่เกิดจากการกระทำของบุคคลเป็นผู้กระทำ โดยสั่งเครื่องคอมพิวเตอร์ให้พิมพ์คะแนนในกระดาษคำตอบและบันทึกเทปตามความต้องการ พยานกับพวกได้ทำรายงานความเห็นไว้ด้วยปรากฏตามเอกสารหมาย จ.39 เห็นว่า พันตำรวจตรีธีรวัฒน์และผู้ทำรายงานความเห็นตามเอกสารหมาย จ.39 เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์โดยตรง ไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อนเชื่อว่าได้เบิกความและทำรายงานดังกล่าวตามความเป็นจริง ทั้งนายจนง สกุลพันธ์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบริการของบริษัทคอนโทรล ดาต้า (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวมา ก็ได้เบิกความยืนยันว่าบริษัทต้องส่งช่างผู้ชำนาญมาตรวจสอบบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ในสภาพปกติใช้งานได้ พยานได้ทำรายงานการตรวจไว้ตามเอกสารหมาย จ.36 และ จ.37 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทำการตรวจข้อสอบอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ การที่จำเลยที่ 1 คุมเครื่องคอมพิวเตอร์ขณะตรวจข้อสอบอยู่เพียงผู้เดียว มีประสบการณ์และความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ ย่อมมีความสามารถที่จะแก้ไขโปรแกรมในการตรวจข้อสอบให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับข้อหาฐานรับสินบนซึ่งศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยต่อไปแล้ว ฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่าความผิดพลาดในการตรวจให้คะแนนในกระดาษคำตอบของนายภคพัทธ์ นายสุวัจชัย และนายวินิตเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ได้ทำการตั้งโปรแกรมสั่งเครื่องคอมพิวเตอร์พิมพ์คะแนนในกระดาษคำตอบของบุคคลทั้งสาม และบันทึกคะแนนลงเทปบันทึกข้อมูลซึ่งเป็นเอกสารราชการของกองบัญชาการศึกษา กรมตำรวจ ตามความต้องการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและมีหน้าที่ทำและกรอกข้อความลงในเอกสารดังกล่าวทำการแก้ไขเพิ่มเติมคะแนนลงในเอกสารดังกล่าว โดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นและการแก้ไขคะแนนดังกล่าวเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่กองบัญชาการศึกษากรมตำรวจ กรรมการตรวจข้อสอบ ผู้เข้าสอบและประชาชน การกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และมาตรา 265 การที่จำเลยที่ 1 มอบกระดาษคำตอบซึ่งตรวจแล้วและเทปบันทึกข้อมูลให้แก่กรรมการตรวจข้อสอบไปดำเนินการต่อไปในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่กองบัญชาการศึกษากรมตำรวจ ผู้เข้าสอบและประชาชน จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 265 และการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กองบัญชาการศึกษา กรมตำรวจ ผู้เข้าสอบและประชาชน และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย

สำหรับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับทรัพย์สินโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 นั้น โจทก์มีพยานคือนายธนาพงษ์ อุดมโภคาและนางศรีมุข โสมทอง เบิกความสอดคล้องต้องกันได้ความว่า นายธนาพงษ์เคยรู้จักจำเลยที่ 1 มาแต่เด็กเพราะบ้านอยู่ใกล้กัน ต่อมาทราบจากพี่สาวของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ทำงานที่สถาบันบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อนางศรีมุข โสมทอง พี่สาวของนายวินิตมาขอให้ช่วยเหลือเมื่อประมาณต้นเดือนกันยายน 2534 จึงได้ขอเบอร์โทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 จากพี่สาวจำเลยที่ 1 และโทรศัพท์ถึงจำเลยที่ 1 ฝากนายวินิต โสมทอง ในการสอบเข้าเป็นตำรวจสัญญาบัตรและบอกเลขประจำตัวสอบให้จำเลยที่ 1 ทราบ โดยเสนอให้เงินจำเลยที่ 1จำนวน 250,000 บาท ต่อมาปรากฏว่านายวินิตสอบข้อเขียนผ่าน นายธนาพงษ์จึงนำเงินจากนางศรีมุขไปให้จำเลยที่ 1 จำนวน 250,000 บาท โดยนัดพบกันที่หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งนายวินิตพยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็ได้มาเบิกความยืนยันว่า นางศรีมุขพี่สาวได้มาขอเลขประจำตัวสอบไป ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าวมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 ทั้งไม่มีเหตุสงสัยว่าพยานจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 คำพยานดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า นายธนาพงษ์ถูกกันไว้เป็นพยานโจทก์ ถ้อยคำของนายธนาพงษ์จึงเกิดจากการจูงใจมีคำมั่นสัญญาไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามรับฟังคำพยานดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น พันตำรวจโทอุบล สันติปรีชาวัฒน์ เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า พยานทราบว่าจำเลยที่ 2 รับวิ่งเต้นช่วยเหลือให้บุคคลเข้าสอบรับราชการตำรวจได้ พยานจึงได้ติดต่อจำเลยที่ 2 ให้ช่วยเหลือนายภคพัทธ์หลานชายโดยได้ตกลงกับจำเลยที่ 2 ว่า ถ้านายภคพัทธ์สอบข้อเขียนผ่านพยานจะจ่ายเงินให้300,000 บาท ถ้าสอบไม่ได้จำเลยที่ 2 จะคืนเงินให้ พยานได้จ่ายเงินให้จำเลยที่ 2เป็นแคชเชียร์ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาตลาดนางบวช จำนวนเงิน 300,000 บาทและพยานได้จดชื่อกับเลขประจำตัวสอบของนายภคพัทธ์ให้จำเลยที่ 2 ไป เมื่อมีการประกาศข้อเขียนปรากฏว่านายภคพัทธ์สอบผ่านข้อเขียน พยานจึงได้ไปพบจำเลยที่ 2 เพื่อให้ช่วยเหลือในการสอบขั้นต่อไป และตกลงจ่ายเงินให้จำเลยที่ 2 อีกเป็นเงิน120,000 บาท โดยจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาตลาดนางบวช ต่อมาวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 นายภคพัทธ์ได้โทรศัพท์แจ้งให้ทราบว่า ผลสอบไม่ผ่าน พยานจึงให้นายภคพัทธ์ทำหนังสือร้องเรียนตามเอกสารหมาย จ.32 ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่าได้รับเงินจำนวน420,000 บาท จากพันตำรวจโทอุบลจริง แต่เป็นการจ่ายเงินค่าเช่าพระสมเด็จที่เช่าไปจากจำเลยที่ 2 ซึ่งภายหลังได้ขอคืนพระเครื่องดังกล่าวพร้อมขอเงินคืนแต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอม เห็นว่า ข้ออ้างเรื่องค่าเช่าพระเครื่องของจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนให้น่าเชื่อถือแต่ประการใด ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานโจทก์ดังกล่าวได้ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องเขยของจำเลยที่ 2 และเป็นเจ้าพนักงาน โดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมาย หรือโดยอิทธิพลของตนให้กระทำการ หรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือโทษแก่บุคคลใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 และโจทก์มีพยานอีกปากหนึ่งคือนายสมศักดิ์ พลายโถ เบิกความว่า นายสันติ หยองอนุกูล พี่เขยของนายุวัจชัย รัตนจินดา ผู้เข้าสอบได้ติดต่อพยานซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกันให้ช่วยเหลือนายสุวัจชัยให้สอบเข้าเป็นตำรวจได้พยานจึงได้ติดต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งรู้จักกันมาก่อนให้ช่วยเหลือจำเลยที่ 2 เรียกค่าตอบแทน 550,000 บาท วันที่ 16 กันยายน 2534 พยานได้นำเงินจำนวน 550,000 บาท ของนายสันติไปมอบให้จำเลยที่ 2 ที่บ้าน และได้จดชื่อนามสกุลนายสุวัจชัยมอบให้จำเลยที่ 2 ไว้หลังจากนั้นประมาณ 10 วัน จำเลยที่ 2 ได้โทรศัพท์แจ้งให้พยานทราบว่านายสุวัจชัยสอบผ่านแล้ว ซึ่งนายสันติ หยองธนากุลก็ได้มาเบิกความเป็นพยานโจทก์สอดคล้องต้องกันว่าพยานได้ติดต่อนายสมศักดิ์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกันให้ช่วยเหลือฝากนายสุวัจชัยน้องชายของภริยาเข้าเป็นตำรวจ นายสมศักดิ์รับจะช่วยวิ่งเต้นให้โดยขอเรียกเงินจำนวน 550,000 บาท พยานได้ให้แคชเชียร์เช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสามพราน สั่งจ่ายเงินจำนวน 550,000 บาท ตามเอกสารหมาย ป.จ. 1/1 (ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี) ไปมอบให้นายสมศักดิ์ แต่นายสมศักดิ์ขอเป็นเงินสด พยานจึงให้นายสมศักดิ์ขับรถยนต์พาไปเบิกเงินสดและพยานได้มอบเงินให้นายสมศักดิ์ไปดำเนินการช่วยเหลือ ต่อมาทราบว่านายสุวัจชัยสอบผ่านข้อเขียนและต่อมาได้รับแจ้งจากนายสุวัจชัยว่าในการประกาศผลสอบครั้งสุดท้ายไม่ผ่าน เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อที่จำเลยที่ 2 ได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.58 ว่าได้รับเงินจากนายสมศักดิ์เพื่อจะนำไปให้จำเลยที่ 1 เพื่อช่วยเหลือนายสุวัจชัยแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้มั่นคงว่า จำเลยที่ 2 เรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจจำเลยที่ 1โดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมาย หรือโดยอิทธิพลของตนให้กระทำการช่วยเหลือนายสุวัจชัยให้สอบเข้าเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 อีกกระทงหนึ่ง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share