คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 95/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้นั้น มีบัญญัติเป็นหลักทั่วไปไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582ซึ่งมิได้กำหนดไว้ว่าการบอกเลิกการจ้างจะต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้น การบอกเลิกการจ้างจึงอาจจะทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ แต่การบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือเพื่อเลิกจ้างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย กำหนดมิให้ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา 119 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ด้วยเหตุนี้หากมีเหตุเลิกจ้างตามบทบัญญัติในสองมาตราดังกล่าว นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาได้ทันที ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือ แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าถ้านายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่จ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องแจ้งเหตุนั้นให้ลูกจ้างทราบ ขณะบอกเลิกจ้างด้วยวาจา ส่วนบทบัญญัติมาตรา 17 วรรคสาม มีความหมายเพียงว่า ในกรณีนายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือ หากนายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชยนายจ้างจะต้องระบุเหตุดังกล่าวไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วย มิฉะนั้นนายจ้างจะยกขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้เท่านั้น ดังนั้น มาตรา 17 วรรคสาม จึงมิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้นายจ้างบอกเลิกการจ้างด้วยวาจา เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ไว้ในรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งมีสาระสำคัญถึงเหตุที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯมาตรา 119 คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป เพราะหากฟังได้ว่าจำเลยได้บอกเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว แม้จะเป็นการบอกเลิกจ้างด้วยวาจา จำเลยก็อาจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ จึงต้องสืบพยานและฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งแพทย์เวรได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 1,400 บาท จ่ายค่าจ้างทุกวัน วันที่ 31 ตุลาคม 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาเกิน7 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน เป็นเงิน 336,000 บาทขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 336,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ก้าวก่ายการเงินของคลินิคจำเลยและยุยงให้พนักงานคนอื่น ๆ ของจำเลยไม่เชื่อฟังคำสั่ง นอกจากนี้โจทก์ยังทำลายทรัพย์สินในคลินิคของจำเลยเสียหาย และทำตัวเป็นปรปักษ์ทางการค้ากับจำเลยโดยแอบติดต่อเช่าตึกที่จำเลยเช่าอยู่เพื่อเปิดคลินิคเช่นเดียวกับจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง

วันนัดพิจารณาคู่ความรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเมื่อเดือนธันวาคม 2535 ตำแหน่งแพทย์เวร มีหน้าที่รักษาคนไข้ที่เจ็บป่วย วันที่ 31 ตุลาคม 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้ทำคำสั่งเป็นหนังสือ

ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยจะปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ต้องปรากฏว่าโจทก์กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 และเหตุแห่งการกระทำต้องระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ออกหนังสือเลิกจ้างจะยกเหตุไม่จ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างไม่ได้ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย252,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 4 พฤศจิกายน2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยแต่เพียงว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้ออกคำสั่งเป็นหนังสือจะยกเหตุตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาเป็นข้ออ้างไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่ เห็นว่า ในการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างเอาไว้นั้น มีบัญญัติเป็นหลักทั่วไปไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 ลักษณะ 6 มาตรา 582 ซึ่งมิได้กำหนดเอาไว้ว่าการบอกเลิกการจ้างจะต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้น การบอกเลิกการจ้างจึงอาจจะทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ แต่การบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือเพื่อเลิกจ้างมีมาตรา 17 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บัญญัติว่าไม่ให้ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา 119 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ซึ่งหมายความว่าถ้ามีเหตุเลิกจ้างตามบทบัญญัติในสองมาตราดังกล่าว นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาได้ทันที ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือแต่ก็ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าถ้านายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่จ่ายค่าชดเชยนายจ้างจะต้องแจ้งเหตุนั้นให้ลูกจ้างทราบขณะบอกเลิกจ้างด้วยวาจา ส่วนบทบัญญัติมาตรา 17 วรรคสาม แห่งบทกฎหมายดังกล่าวที่ว่า ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้นั้น คงมีความหมายเพียงว่าในกรณีนายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือหากนายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องระบุเหตุดังกล่าวไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วย มิฉะนั้นนายจ้างจะยกขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้เท่านั้น มาตรา 17 วรรคสาม จึงมิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้นายจ้างบอกเลิกการจ้างด้วยวาจา ดังนี้ เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ไว้ในรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งมีสาระสำคัญถึงเหตุที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป เพราะหากฟังได้ว่าจำเลยได้บอกเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว แม้จะเป็นการบอกเลิกจ้างด้วยวาจา จำเลยก็อาจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลแรงงานกลางจึงควรสืบพยานและฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อน ที่ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share