คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7953/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก และมาตรา 317 ผู้กระทำผิดจะต้องกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี เรื่องอายุของผู้เสียหายเป็นองค์ประกอบของความผิดด้วย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้กระทำผิดได้รู้หรือไม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 วรรคแรก ซึ่งข้อเท็จจริงใดถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิดดังนี้ถ้าจำเลยสำคัญผิดในเรื่องอายุของผู้เสียหาย แม้ความจริงไม่ใช่อย่างที่จำเลยสำคัญผิด จำเลยย่อมไม่มีความผิด
ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่ชอบ แต่เพื่อไม่ให้คดีล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาก่อน
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 เมื่อจำเลยมีเจตนาและได้พรากผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กไปเพื่อการอนาจาร ถือได้ว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาไปเพื่อการอนาจารสำเร็จนับแต่จำเลยเริ่มพรากผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาดังกล่าวแล้ว แม้จำเลยจะยังไม่ได้กระทำการกระทำชำเราผู้เสียหายก็ตาม ส่วนการที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายหลังจากนั้นก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 อีกกรรมหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเป็น 2 กระทง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2540 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยพรากเด็กหญิงธิดาหรือเมย์ บุญเจียม ผู้เสียหาย อายุ 13 ปีเศษ ไปเสียจากนายสัญจรบุญเจียม บิดา โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารแล้วจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย โดยใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำจนผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้และจำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายให้อยู่ในบ้านของจำเลย ทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 310, 317, 91

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 4 ปี ฐานพรากเด็ก เพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำคุก 4 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เด็กหญิงธิดาหรือเมย์ บุญเจียม ผู้เสียหายเกิดวันที่ 4 กรกฎาคม 2526 ถึงวันเกิดเหตุอายุ 14 ปีเศษ เป็นบุตรนายสัญจร บุญเจียม กับนางอรุณ บุญเจียม ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยได้พรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร และจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอม

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยอุทธรณ์ จำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายมีอายุ 20 ปีแล้ว จำเลยมาทราบภายหลังว่า ผู้เสียหายมีอายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ เป็นความสำคัญผิดในข้อเท็จจริง การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรกและมาตรา 317 วรรคสาม แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก และมาตรา 317 ผู้กระทำผิดจะต้องกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี เรื่องอายุของผู้เสียหายเป็นองค์ประกอบของความผิดด้วย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้กระทำผิดได้รู้หรือไม่การรู้หรือไม่รู้ข้อเท็จจริงจะผิดหรือไม่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 วรรคแรกบัญญัติว่า ข้อเท็จจริงใดถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด ฯลฯ แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด ฯลฯ จึงเห็นได้ว่า คดีนี้ถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยสำคัญผิดในเรื่องอายุของผู้เสียหาย แม้ความจริงไม่ใช่อย่างที่จำเลยสำคัญผิด จำเลยย่อมไม่มีความผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมพิพากษายกฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215 ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแต่เพื่อไม่ให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาก่อนและเห็นว่า ผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า เกิดวันที่ 4กรกฎาคม 2526 ตามสำเนาภาพถ่ายทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.1 ในชั้นสอบสวนผู้เสียหายก็ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า มีอายุ 14 ปี ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.2 โดยไม่ปรากฏตามคำเบิกความและคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายเลยว่า ก่อนหรือขณะเกิดเหตุจำเลยได้สอบถามเรื่องอายุของผู้เสียหายและผู้เสียหายบอกจำเลยว่า มีอายุเกินกว่า 15 ปี หรือมีอายุ 20 ปีแล้ว อันจะมีเหตุผลทำให้จำเลยเข้าใจหรือสำคัญผิดว่า ผู้เสียหายมีอายุเกินกว่า 15 ปี หรือมีอายุ 20 ปีแล้วทั้งตอนโจทก์นำสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ซึ่งมีตัวผู้เสียหายนายสัญจรบิดาผู้เสียหาย และพลตำรวจรัตนชัย แก้วรังษี เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยมาเบิกความเป็นพยานโจทก์นั้น จำเลยก็มิได้ถามค้านพยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวเพื่อให้มีข้อเท็จจริงหรือมีพฤติการณ์ที่เป็นเหตุทำให้จำเลยเข้าใจหรือสำคัญผิดในเรื่องอายุของผู้เสียหาย แม้จำเลยจะได้ให้การในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.6 ว่า จำเลยไม่ทราบว่าผู้เสียหายมีอายุเท่าใด แต่รูปร่างสูงใหญ่กว่าจำเลยตามที่จำเลยอ้างในฎีกา แต่ในชั้นพิจารณา จำเลยก็มิได้เบิกความหรือนำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้ว่า ผู้เสียหายมีรูปร่างสูงใหญ่กว่าจำเลย ข้ออ้างของจำเลยในชั้นสอบสวนดังกล่าวจึงเป็นการกล่าวอ้างอย่างลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ส่วนข้อที่จำเลยอ้างในฎีกาว่า ผู้เสียหายและบิดาผู้เสียหายได้แถลงข้อเท็จจริงตามคำร้องลงวันที่ 10 เมษายน 2541 ว่าจำเลยกับผู้เสียหายเคยรักใคร่กันในทำนองหนุ่มสาวมาก่อน ในวันเกิดเหตุผู้เสียหายขอให้จำเลยพาผู้เสียหายไปนอนค้างคืนที่บ้านจำเลย และผู้เสียหายกับจำเลยได้ตกลงที่จะให้บิดาจำเลยไปทำการหมั้นและสู่ขอผู้เสียหายเพื่อแต่งงานอยู่กินด้วยกันในอนาคตหลังจากจำเลยเรียนจบ และในคืนเกิดเหตุผู้เสียหายยอมให้จำเลยร่วมประเวณีด้วยความสมัครใจ หลังจากผู้เสียหายและจำเลยเล่าความจริงให้บิดามารดาทราบ จึงได้ทำการหมั้นสู่ขอกันไว้เพื่อจะแต่งงานตามประเพณีต่อไป ตามสำเนาสัญญาหมั้นเอกสารท้ายฎีกานั้น ก็ยังไม่เป็นพฤติการณ์หรือหลักฐานเพียงพอให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเข้าใจหรือสำคัญผิดว่าผู้เสียหายมีอายุ 20 ปีแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายมีอายุ 20 ปีแล้ว ตามที่จำเลยอ้างในฎีกา

ปัญหาตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายที่ข้อสุดท้ายมีว่า การกระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารและการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนนั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นความผิดกรรมเดียวเพราะจำเลยมีเจตนากระทำต่อเนื่องในคราวเดียวกันโดยจำเลยมีเจตนาที่จะร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย จึงได้พรากผู้เสียหายไปจากบิดามารดาโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการพาผู้เสียหายไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร เห็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร เมื่อจำเลยมีเจตนาพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กไปเพื่อการอนาจารถือได้ว่าความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดาไปเพื่อการอนาจารสำเร็จนับแต่จำเลยเริ่มพรากผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาดังกล่าวแล้ว แม้จำเลยจะยังไม่ได้กระทำการกระทำชำเราผู้เสียหายก็ตาม การที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายหลังจากนั้นจึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง ซึ่งต่างกรรมต่างวาระกับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเป็น 2 กระทง

พิพากษายืน

Share