คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7171/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในคดีแพ่งไปแล้วถึง 2 ครั้งครั้งแรกอ้างว่ายังคัดคำพิพากษาไม่แล้วเสร็จโดยขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน ครั้งที่สองอ้างว่า ค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์จำเลยที่ 2 จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเบิกจ่ายจึงขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาต ซึ่งเท่ากับว่าศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษและระยะเวลานับแต่จำเลยทราบคำพิพากษาศาลชั้นต้นจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตเป็นเวลานานถึง 64 วัน ซึ่งเป็นเวลาอันสมควรที่จำเลยจะเบิกจ่ายเงินดังกล่าวได้แล้ว แต่จำเลยกลับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีกเป็นครั้งที่สามโดยมิได้อ้างเหตุพฤติการณ์พิเศษ คงอ้างแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 ยังมิได้ส่งเงินดังกล่าวมายังพนักงานอัยการทนายจำเลยที่ 2 เท่านั้นซึ่งมิใช่พฤติการณ์พิเศษ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 นั้น ชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 1,001,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1ค่าฤชาธรรมเนียม ส่วนของจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ และได้อ่านคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยทั้งสองฟังเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์วันที่ 4 มกราคม 2541 ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันครบกำหนดอุทธรณ์ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาออกไปถึงวันที่ 26 มกราคม 2541 ต่อมาวันที่ 22 มกราคม 2541 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2541 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาออกไปถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 ครั้นวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ข้ออ้างตามคำร้องถือไม่ได้ว่า มีพฤติการณ์พิเศษให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ข้ออ้างตามคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นพฤติการณ์พิเศษ เนื่องจากโดยระเบียบและทางปฏิบัติของส่วนราชการที่เป็นจำเลย เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วพนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายความของส่วนราชการจะต้องแจ้งความเห็นไปยังส่วนราชการว่าควรจะอุทธรณ์หรือไม่ หากส่วนราชการประสงค์จะอุทธรณ์ก็ต้องแจ้งความเห็นพร้อมส่งเงินค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายมายังสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นเช็คสั่งจ่ายศาลที่จะทำการยื่นอุทธรณ์ซึ่งมีขั้นตอนมาก ย่อมต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไปแล้วถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกอ้างว่ายังคัดคำพิพากษาไม่แล้วเสร็จโดยขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน ซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาออกไปถึงวันที่ 26 มกราคม 2541 ครั้งที่สองอ้างว่า ค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์จำเลยที่ 2 จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเบิกจ่ายจึงขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน ศาลชั้นต้นก็อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปจนถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งเท่ากับว่าศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษ และระยะเวลานับแต่จำเลยที่ 2 ทราบคำพิพากษาศาลชั้นต้นจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตเป็นเวลานานถึง 64 วัน ซึ่งเป็นเวลาอันสมควรที่จำเลยที่ 2 จะเบิกจ่ายเงินดังกล่าวได้แล้ว แต่จำเลยที่ 2 กลับยื่นคำร้องลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีกโดยมิได้อ้างเหตุพฤติการณ์พิเศษอย่างใดอีก คงอ้างแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ยังมิได้ส่งเงินดังกล่าวมายังพนักงานอัยการทนายจำเลยที่ 2 เท่านั้น ซึ่งมิใช่พฤติการณ์พิเศษ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 นั้น ชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share