แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ระเบียบของจำเลยกำหนดไว้ว่าลูกจ้างทุกคนจะครบเกษียณอายุเมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อลูกจ้างหลายคน อายุครบ 55 ปีแล้ว จำเลยยังคงจ้างให้ทำงานต่อไปจึงถือว่า เป็นการจ้างที่มิได้กำหนดระยะเวลากันไว้ว่าจะจ้างกันนานเท่าใด การที่จำเลยเพิ่งให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างลงชื่อรับทราบในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2529 ว่าจะให้ลูกจ้างที่มีอายุครบ 55 ปีออกจากงานทั้งหมด และให้ออกตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2529 ในวันรุ่งขึ้นนั้นเองจึงเป็น การบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธุ์ 2529 การเลิกจ้าง มีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป ในวันที่ 15 มีนาคม 2529
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาได้ปลดโจทก์ทั้งหมดออกจากการเป็นลูกจ้างโดยเหตุเกษียณอายุ เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์โจทก์รับทราบคำสั่ง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2529 และมีผลใช้บังคับ วันที่ 1 มีนาคม2529 ถือได้ว่าจำเลยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินเดือนอีกเดือนหนึ่งและโจทก์ขอคิดค่าเสียหายคนละ 3 เดือนตามอัตราค่าจ้างเงินเดือนครั้งสุดท้ายโจทก์ทุกคนทำงานมาเกินกว่า 3 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามระเบียบบริษัทจำเลย 10 วัน แต่โจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิหยุด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทุกคนด้วย
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากครบเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม และไม่ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยได้บอกกล่าวล่วงหน้าเกินหนึ่งชั่วระยะเวลาการจ่ายค่าจ้างแล้ว อย่างไรก็ตามโจทก์ทราบระเบียบของจำเลยล่วงหน้าแล้วว่าจะถูกเลิกจ้างเมื่ออายุ 55 ปี จึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอีก ในปี 2529 โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อน 10 วันจริง แต่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์เพราะโจทก์ทำงานไม่ครบปี หากจะได้รับก็ได้รับเท่ากับค่าจ้าง 1 วันครึ่ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าหลังจากโจทก์มีอายุครบ55 ปีบริบูรณ์แล้ว จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ แต่กลับจ้างให้ทำงานต่อไปโดยไม่ตกลงระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน จำเลยจะเลิกสัญญาจ้าง จึงต้องมีหน้าที่บอกกล่าวแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทุกคน นอกจากนี้โจทก์ทุกคนมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีคนละ 10 วันแต่เมื่อทำงานในปี 2529 ได้เพียง 2 เดือน ก็ถูกปลดจากงาน สิทธิของโจทก์จึงเฉลี่ยลงตามส่วน โดยโจทก์แต่ละคนมีสิทธิหยุดพักผ่อนได้คนละ 1 วัน 16 ชั่วโมง
ผู้พิพากษาสมทบคนหนึ่งทำความเห็นแย้ง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยแถลงรับกันว่าเมื่ออายุครบ55 ปีแล้ว จำเลยยังคงจ้างโจทก์หลายคนให้ทำงานต่อไปถือได้ว่าเป็นการจ้างที่มิได้กำหนดระยะเวลากันไว้ว่าจะจ้างกันนานเท่าใด ฉะนั้นการที่จำเลยเพิ่งจะให้โจทก์ลงชื่อรับทราบในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2529 ว่าจะให้ลูกจ้างที่มีอายุครบ 55 ปีออกจากงานทั้งหมดและให้ออกตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2529 ในวันรุ่งขึ้นนั้นเองจึงเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2529 การเลิกจ้างจึงมีผลเป็นเลิกสัญญา เมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป ในวันที่ 15 มีนาคม 2529
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางคำนวณวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ตามสิทธิคนละ 10 วัน แต่โจทก์ทำงานในปี 2529 ได้เพียง 2 เดือนก็ถูกปลดออกจากงาน สิทธิของโจทก์จึงเฉลี่ยตามส่วนคนละ 1 วัน 16 ชั่วโมงจำเลยเห็นว่าโจทก์แต่ละคนมีสิทธิหยุดพักผ่อนได้เพียงคนละ 1 วัน 4.8 ชั่วโมงนั้นเห็นว่าตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 กำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานมาครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้และโจทก์ทำงานกับจำเลยมาเกินกว่า 3 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามระเบียบบริษัทจำเลยได้คนละ 10 วัน ฉะนั้นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้โจทก์มีสิทธิได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเฉลี่ยตามส่วนคนละ 1 วัน 16 ชั่วโมง จึงน้อยกว่าสิทธิที่โจทก์แต่ละคนจะได้รับ และโจทก์มิได้อุทธรณ์ ย่อมเป็นผลดีแก่จำเลยอยู่แล้ว
พิพากษายืน