คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คู่มือพนักงาน ฯ หมวดที่ 5 ข้อ 5.3 การครบเกษียณอายุ ตามข้อ 5.3.1 นั้น ปกติพนักงานชายจะเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แต่มีข้อยกเว้นตามข้อ 5.3.3 ว่า จำเลยผู้เป็นนายจ้างหรือพนักงานของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานชายที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ละฝ่ายอาจขอให้รับการปลดเกษียณก่อนมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ก็ได้ ซึ่งหากจำเลยผู้เป็นนายจ้างหรือพนักงานผู้เป็นลูกจ้างขอให้รับการปลดเกษียณก่อนดังกล่าวแล้วย่อมมีผลเป็นการปลดเกษียณโดยได้รับเงินบำเหน็จด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนการลาออกตามข้อ 5.2 นั้น เป็นเรื่องที่ลูกจ้างขอเลิกสัญญาจ้างแรงงานกรณีที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิขอให้ได้รับการปลดเกษียณตามข้อ 5.3.3 หรือมีสิทธิตามข้อ 5.3.3 แต่ลูกจ้างไม่ประสงค์จะให้ได้รับสิทธิเช่นนั้นเท่านั้นโจทก์มีหนังสือแจ้งแก่จำเลยว่า โจทก์ขอลาเกษียณอายุก่อนกำหนด ขอได้พิจารณาอนุมัติตามระเบียบต่อไป จึงเป็นเรื่องโจทก์ใช้สิทธิขอลาเกษียณอายุก่อนกำหนดตามข้อ 5.3.3 แม้โจทก์จะอ้างว่า โจทก์มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ไว้ด้วย ก็เป็นเพียงเหตุที่โจทก์ไม่ประสงค์จะปฏิบัติงานจนมีอายุครบ 60 บริบูรณ์ จึงขอใช้สิทธิตามข้อ 5.3.3 เท่านั้น รูปเรื่องจึงมิใช่ขอลาออกตามข้อ5.2 แต่เป็นเรื่องจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุแล้ว จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยได้มีระเบียบที่เรียกว่าคู่มือพนักงานหมวดที่ 5ว่าด้วยการพ้นจากการเป็นพนักงาน ซึ่งในข้อ 5.3.3 กำหนดว่า “บริษัทหรือตัวพนักงานเองอาจขอให้พนักงานได้รับการปลดเกษียณก่อนครบเกษียณอายุโดยได้รับเงินบำเหน็จดังกล่าวข้างต้นได้ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีก่อนครบเกษียณอายุ โดยแจ้งความจำนงให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือน ” ข้อ 5.3.1 กำหนดว่า “พนักงานขายผู้มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ถือว่าครบเกษียณอายุ ” โจทก์มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ข้อ 5.3.3ที่จะขอเกษียณอายุได้ จำเลยไม่ได้ให้โจทก์ออกโดยไม่มีความผิด แต่โจทก์ขอลาออกโดยอ้างว่าสุขภาพไม่สมบูรณ์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษา ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 212,700 บาทให้แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหามีว่า การลาออกของโจทก์ตามระเบียบของจำเลยข้อ 5.3 เป็นการเลิกจ้างหรือไม่ เห็นว่า ตามคู่มือพนักงานบริษัทล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพฯ) จำกัด เอกสารหมาย จ.ล.3 หมวดที่ 5การพ้นจากการเป็นพนักงาน ข้อ 5.3 การครบเกษียณอายุ โดยข้อ 5.3.1 กำหนดว่าพนักงานชายผู้มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และพนักงานหญิงผู้มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ถือว่าครบเกษียณอายุ และข้อ 5.3.1 กำหนดว่า บริษัทหรือตัวพนักงานเองอาจขอให้พนักงานได้รับการปลดเกษียณก่อนครบเกษียณอายุ โดยได้รับเงินบำเหน็จดังกล่าวข้างต้นได้ภายในเวลาไม่เกิน 5 ปีก่อนครบเกษียณอายุ โดยแจ้งความจำนงให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือน เช่นนี้ จึงเห็นได้ชัดถึงความหมายของการเกษียณอายุของลูกจ้างของจำเลยได้ว่า ตามปกติแล้วพนักงานชายจะเกษียณอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ส่วนพนักงานหญิงจะเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ55 ปีบริบูรณ์ แต่ก็มีข้อยกเว้นไว้ว่า จำเลยผู้เป็นนายจ้างก็ดีหรือพนักงานของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานชายที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรือพนักงานหญิงที่มีอายุ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปก็ดี แต่ละฝ่ายอาจขอให้รับการปลดเกษียณก่อนมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์และ 55 ปีบริบูรณ์ ตามลำดับก็ได้ ซึ่งหากจำเลยผู้เป็นนายจ้าง หรือพนักงานผู้เป็นลูกจ้างขอให้รับการปลดเกษียณก่อนดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมมีผลเป็นการปลดเกษียณด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนการลาออกตามข้อ 5.2 นั้นเป็นเรื่องที่ลูกจ้างขอเลิกสัญญาจ้างแรงงานกรณีที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิขอให้ได้รับการปลดเกษียณตามข้อ 5.3.3หรือมีสิทธิตามข้อ 5.3.3 แต่ลูกจ้างไม่ประสงค์จะให้ได้รับสิทธิเช่นนั้นเท่านั้นสำหรับคดีนี้โจทก์ได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.ล.1 แจ้งแก่จำเลยว่าโจทก์ขอลาเกษียณอายุก่อนกำหนด ขอให้พิจารณาอนุมัติตามระเบียบต่อไปจึงเป็นเรื่องโจทก์ใช้สิทธิตามข้อ 5.3.3 แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ไว้ด้วยก็เป็นเพียงเหตุที่โจทก์ไม่ประสงค์จะปฏิบัติงานจนมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์จึงขอใช้สิทธิตามข้อ 5.3.3 เท่านั้น รูปเรื่องจึงมิใช่โจทก์ขอลาออกตามข้อ 5.2แต่เป็นเรื่องจำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะเหตุเกษียณอายุแล้ว

พิพากษายืน

Share