คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9263/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535 มาตรา 18 บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและให้ใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นฟ้องนั้น บังคับแก่คดีดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด” โจทก์ฟ้องคดีนี้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมแล้วมาใช้บังคับแก่คดีของโจทก์ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมก่อนที่ได้เสร็จการสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายมีหน้าที่นำสืบก่อน จึงเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม จึงชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยซื้อมาจากผู้มีชื่อ จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา ตามคำให้การจำเลยไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ จึงไม่มีการอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่จำเลยยกเหตุเป็นข้อต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี หรือไม่ ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 183 เป็นการไม่ชอบ ถือได้ว่าปัญหานี้เป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในประเด็นดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานยันตนจะต้องคัดค้านการนำเอกสารนั้นมาสืบโดยเหตุที่ว่าไม่มีต้นฉบับ หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ ก่อนวันสืบพยานหรือก่อนศาลพิพากษาแล้วแต่กรณี การที่โจทก์นำสืบแสดงสำเนาเอกสารต่อศาลแต่จำเลยมิได้คัดค้านว่าต้นฉบับเอกสารที่โจทก์นำสืบนั้นไม่มีหรือสำเนาไม่ถูกต้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เมื่อศาลวินิจฉัยรับฟังตามสำเนาเอกสารดังกล่าวถือได้ว่าศาลอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบในกรณีไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาได้โดยประการอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) แล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องขออนุญาตศาลก่อน และศาลย่อมมีอำนาจรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวแทนต้นฉบับได้
ข้อฎีกาของจำเลยที่เป็นการอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับความเป็นจริงย่อมไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยของศาลฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของร้อยตำรวจเอกสุเทพวิริยะภรณ์ชัย ตามคำสั่งศาล เมื่อปี 2506 ร้อยตำรวจเอกสุเทพได้ครอบครองที่ดินมือเปล่า ตามแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.5) เลขที่สำรวจ 295/282เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ได้ปลูกบ้านเลขที่ 89 หมู่ที่ 3 (เดิมหมู่ที่ 7) อยู่อาศัยและปลูกพืชไร่ได้แก่ มันสำปะหลัง มะม่วงและทุเรียน ร้อยตำรวจเอกสุเทพถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2533 โจทก์ทั้งสองได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา ต่อมาเดือนมกราคม 2535 จำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินดังกล่าวและให้บริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 89 และใช้รถไถไถต้นไม้ที่ร้อยตำรวจเอกสุเทพปลูกไว้และปรับสภาพหน้าดิน โจทก์ทั้งสองห้ามปรามแล้วแต่จำเลยไม่ฟัง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าวและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดิน

จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องมีเนื้อที่ 18 ไร่ เมื่อวันที่ 15 มกราคม2532 นายกงหลากับนางนิตยา ราษฎร์นิยม ได้ขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลยในราคา 500,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 100,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2532 และนางนิตยาได้รับเงินดังกล่าวไปครบถ้วนแล้วนายกงหลาและนางนิตยาได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์โดยจำเลยได้ปลูกบ้าน ต้นยางพารา ต้นทุเรียน เงาะ มะม่วงกล้วย กับขุดบ่อน้ำ ต่อมาจำเลยทราบว่านายกงหลาและนางนิตยาจะนำที่ดินพิพาทไปขายให้คนอื่น จึงขับไล่บุคคลทั้งสอง แต่ทั้งสองคนไม่ยอมออก จำเลยจึงฟ้องขับไล่บุคคลทั้งสอง แต่ทั้งสองคนไม่ยอมออก จำเลยจึงฟ้องขับไล่นายกงหลาส่วนนางนิตยามีสามีใหม่และออกจากที่ดินพิพาทไปแล้ว นายกงหลาได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลย ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายค่าเช่าที่ดินพิพาทไม่เกินปีละ 1,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยออกไปจากที่ดินตามแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.5) เลขที่สำรวจ 295/282 หมู่ที่ 7 ตำบลสำนักทอง (ตำบลกระเฉด)อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เนื้อที่ 37 ไร่ 84 ตารางวา กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินดังกล่าว และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 30 มีนาคม 2537ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 เพราะโจทก์ทั้งสองมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่า 15 วันและคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมนั้นก็มิได้แสดงเหตุอันสมควร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 ดังกล่าว ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2535 และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13)พ.ศ. 2535 มาตรา 18 บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้แล้ว ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นฟ้องนั้น บังคับแก่คดีดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด” โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2535 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมแล้วมาใช้บังคับแก่คดีของโจทก์ทั้งสอง การที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2537 ต่อศาลก่อนที่ได้เสร็จการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นฝ่ายมีหน้าที่นำสืบก่อนจึงเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสองเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้อง คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมนั้น จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ที่จำเลยฎีกาต่อมาว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความเพราะโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยซื้อมาจากนายกงหลาและนางนิตยา ราษฎร์นิยม จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา ตามคำให้การไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสอง จึงไม่มีการอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่จำเลยยกสาเหตุเป็นข้อต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี หรือไม่ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 183 เป็นการไม่ชอบ ถือได้ว่าปัญหานี้เป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในประเด็นดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองรับฟังเอกสารหมาย จ.2 จ.3 จ.5 จ.8จ.9 จ.10 จ.12 จ.13 จ.17 และสำเนาเอกสารอื่นขัดต่อ มาตรา 93 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเพราะมิใช่ต้นฉบับนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานยันตนจะต้องคัดค้านการนำเอกสารนั้นมาสืบโดยเหตุที่ว่าไม่มีต้นฉบับ หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับก่อนวันสืบพยานหรือก่อนศาลพิพากษาแล้วแต่กรณี การที่โจทก์ทั้งสองนำสืบแสดงสำเนาเอกสารดังกล่าวต่อศาล แต่จำเลยมิได้คัดค้านว่าต้นฉบับเอกสารไม่มีหรือสำเนาไม่ถูกต้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เมื่อศาลวินิจฉัยรับฟังตามสำเนาเอกสารดังกล่าว ถือได้ว่าศาลได้อนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบได้ในกรณีไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาได้โดยประการอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) แล้ว โดยโจทก์ทั้งสองไม่จำต้องขออนุญาตศาลก่อนศาลล่างทั้งสองย่อมมีอำนาจรับฟังสำเนาเอกสารตามที่โจทก์อ้างในฎีกาแทนต้นฉบับได้

สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังพยานเอกสารหมาย จ.19 ถึง จ.22 โดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานเป็นการขัดต่อบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 นั้น เห็นว่าโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2535 ระบุพยานเอกสารหมาย จ.19 ถึง จ.22 และศาลมีคำสั่งรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมฉบับดังกล่าวไว้แล้ว ดังนั้นฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นการอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับความเป็นจริงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยของศาลฎีกา

อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ ศาลชั้นต้นกำหนดทุนทรัพย์ราคาที่ดินพิพาทเป็นเงิน 100,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความ 10,000บาท แทนโจทก์ทั้งสองนั้นไม่ชอบ เพราะตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้กำหนดอัตราค่าทนายความขั้นสูงในศาลชั้นต้น สำหรับคดีมีทุนทรัพย์เกิน 25,000 บาท ไว้เพียงร้อยละ 5 ของทุนทรัพย์ จึงเกินกว่าอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนด ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 4,000 บาทแทนโจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,500 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง

Share