คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9033/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยากัน และร่วมกันประกอบกิจการค้าขายต่อมาผู้ร้องกับจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน แต่ยังคงอยู่กินฉันสามีภริยาและประกอบกิจการค้าขายร่วมกัน ระหว่างนั้นผู้ร้องได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาท ผู้ร้องกับจำเลยและบุตรเข้าอยู่ในตึกแถวพิพาทโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ ดังนี้แม้ทรัพย์สินพิพาทจะได้มาภายหลังการหย่า ทรัพย์สินดังกล่าวย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของผู้ร้องกับจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะยึดทรัพย์สินพิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาดได้ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยการยึดทรัพย์สินพิพาท

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระเงินตามเช็ค 3 ฉบับ เป็นเงินรวม 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,825 บาทรวมเป็นเงิน 267,825 บาท และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่30 กันยายน 2536 ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 267,825 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 260,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยไม่ชำระโจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 99766 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 40/47 เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา โดยอ้างว่าเป็นของจำเลย
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 99766 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 40/47 เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวจำเลยมีชื่อในทะเบียนบ้านในฐานะเจ้าบ้าน แต่อยู่ในฐานะผู้อาศัยเท่านั้น ผู้ร้องได้หย่าขาดจากจำเลยตั้งแต่ปี 2524 และเพิ่งมาซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2533 ด้วยเงินของผู้ร้องโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะยึด ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่า โจทก์ไม่ทราบว่าผู้ร้องกับจำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากกันตั้งแต่ปี 2524 แต่เห็นผู้ร้องกับจำเลยยังคงอยู่กินด้วยกันมาตลอดจนมีบุตรด้วยกัน 3 คน ผู้ร้องกับจำเลยทำมาค้าขายร่วมกันอันมีลักษณะเป็นหุ้นส่วนการจดทะเบียนหย่ามีเจตนาเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้และมูลหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมของผู้ร้องกับจำเลย เพราะผู้ร้องกับจำเลยนำเงินที่รับจากโจทก์ไปซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทและนำเงินอีกส่วนหนึ่งไปเป็นทุนค้าขาย ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงเป็นของผู้ร้องและจำเลยร่วมกันขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกคำร้องขอ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่โจทก์นำยึด
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันว่า เดิมผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยากันและพักอาศัยอยู่ที่ตึกแถวเลขที่ 40/69 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิกรุงเทพมหานคร โดยร่วมกันประกอบกิจการค้าขายแก๊สหุงต้ม ผู้ร้องและจำเลยรู้จักกับโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้าและพักอาศัยอยู่ในซอยเดียวกัน ตึกแถวห้องที่อยู่ติดกันคือเลขที่ 40/70 เป็นที่พักอาศัยของนายเทียมปิง แซ่ลี้ มีอาชีพขายอาหาร ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2524 ผู้ร้องกับจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน ตามใบสำคัญการหย่าเอกสารหมาย ร.4 ครั้นวันที่ 10 เมษายน 2533 นายสุชิน วุฒิสมบัติและนางสาวสมพร วุฒิสมบัติ เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 99766แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถวเลขที่ 40/47 ซึ่งเป็นทรัพย์สินพิพาทคดีนี้และอยู่ห่างจากตึกแถวเลขที่ 40/69ประมาณ 100 เมตร ได้จดทะเบียนขายทรัพย์สินพิพาท โดยตามหนังสือสัญญาขายที่ดินและรายการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินระบุผู้ซื้อคือผู้ร้องเพียงผู้เดียวตามเอกสารหมาย ร.1 และ ร.2 หลังจากรับโอนกรรมสิทธิ์แล้วผู้ร้องกับจำเลยและบุตรเข้าพักอาศัยในทรัพย์สินพิพาทโดยประกอบกิจการค้าขายแก๊สหุงต้มเช่นเดิมตลอดมา ครั้นวันที่ 8 เมษายน 2537โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดียึดทรัพย์สินพิพาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าผู้ร้องมีสิทธิขอให้ปล่อยการยึดทรัพย์สินพิพาทหรือไม่ ปัญหานี้ผู้ร้องจำเลยนางสาวจุฑาธิป ปนุตติกร และนายอนันต์ พงส์ธัญญะดิลก เบิกความเป็นพยานฝ่ายผู้ร้องว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินพิพาทเพียงผู้เดียว โดยในการซื้อทรัพย์สินพิพาทผู้ร้องมีเงินไม่พอชำระราคาจึงต้องขอยืมเงินจากนางสาวจุฑาธิปและทำการกู้ยืมจากธนาคารซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพมหานคร โดยจดทะเบียนจำนองทรัพย์สินพิพาทเป็นประกันต่อธนาคารตามเอกสารหมาย ร.2 และ ร.3หลังจากผู้ร้องจดทะเบียนหย่ากับจำเลยแล้วก็ได้แยกกันอยู่จนกระทั่งเมื่อผู้ร้องซื้อทรัพย์สินที่พิพาท ผู้ร้องจึงยอมคืนดีกับจำเลยและให้เข้ามาอยู่ร่วมกันด้วยในฐานะเจ้าบ้านตามเอกสารหมาย จ.1 แต่สำหรับพยานหลักฐานโจทก์ปรากฏว่าโจทก์มีตัวโจทก์ นายเทียมปิงและนางน้ำเงิน แซ่อุ้ย เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า พยานโจทก์ทั้งหมดไม่ทราบว่าผู้ร้องกับจำเลยจดทะเบียนหย่ากันนายเทียมปิงมาอยู่ที่ตึกแถวเลขที่ 40/70 เมื่อปี 2528 ภายหลังผู้ร้องกับจำเลยประมาณ 1 ถึง 2 ปีนางน้ำเงินมีอาชีพขายของชำอยู่ตึกแถวเลขที่ 40/128-129 ในซอยเดียวกัน แต่อยู่ตรงข้ามเยื้องกับตึกแถวเลขที่ 40/69 โดยนางน้ำเงินอยู่ก่อนผู้ร้องกับจำเลย ผู้ร้องกับจำเลยอยู่กินร่วมกันมาโดยตลอดตั้งแต่อยู่ตึกแถวเลขที่ 40/69 จนกระทั่งย้ายมาอยู่ตึกแถวเลขที่ 40/47 ซึ่งเป็นทรัพย์สินพิพาทคดีนี้จนถึงปัจจุบันโดยประกอบกิจการค้าขายแก๊สหุงต้มเช่นเดิม ตามภาพถ่ายหมาย จ.2 รวม 6 ภาพ เห็นว่า นายเทียมปิงและนางน้ำเงินเป็นคนกลางรู้จักคู่ความคดีนี้ทั้งสองฝ่ายเพราะพักอาศัยอยู่ในซอยเดียวกันและใกล้กับตึกแถวเลขที่ 40/69ซึ่งครอบครัวของผู้ร้องกับจำเลยพักอาศัยอยู่ในตอนต้นข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายเทียมปิงกับนางน้ำเงินมีหรือเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ร้องและจำเลยสภาพชุมชนซึ่งพักอาศัยอยู่ในละแวกเดียวกันเช่นนี้มาเป็นเวลานานนับสิบปีขึ้นไป ย่อมมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่านายเทียมปิงและนางน้ำเงินทราบข้อเท็จจริงต่าง ๆ จริงดังที่เบิกความ ยิ่งไปกว่านั้นคำเบิกความของนางน้ำเงินในคดีนี้เกี่ยวกับการที่ผู้ร้องและจำเลยอยู่กินร่วมกันมาโดยตลอด ก็ตรงกับที่นางน้ำเงินเบิกความเป็นพยานโจทก์ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2538 ในกรณีที่ธนาคารซิตี้แบงก์สาขากรุงเทพมหานคร เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองทรัพย์สินพิพาทก่อนโจทก์ ดังนี้ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานผู้ร้องให้รับฟังได้ว่านับจากเมื่อผู้ร้องกับจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน ทำให้ผู้ร้องกับจำเลยมิใช่สามีภริยาตามกฎหมายอีกต่อไป และพยานโจทก์ทั้งหมดมิได้ทราบข้อเท็จจริงนี้ แต่ผู้ร้องกับจำเลยยังคงอยู่กินฉันสามีภริยาและประกอบกิจการค้าขายร่วมกันมาโดยตลอด ทรัพย์สินพิพาทที่ได้มาภายหลังการจดทะเบียนหย่าย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของผู้ร้องกับจำเลยฉะนั้นแม้หนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จะเป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้ร้องกับจำเลยหรือไม่ก็ตามแต่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยย่อมมีสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ประกอบมาตรา 278 วรรคหนึ่ง และมาตรา 282 ที่จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดียึดทรัพย์สินพิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาดได้ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งมาตรา 288 วรรคหนึ่ง เพราะทรัพย์สินพิพาท จำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของรวมด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยการยึดทรัพย์สินพิพาทที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าทรัพย์สินพิพาทเป็นของผู้ร้องเพียงผู้เดียวและพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ปล่อยทรัพย์สินพิพาทนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง

Share