แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อความของสัญญาระบุไว้ชัดแจ้งว่า หนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับนี้ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผู้กู้ ส่วนโจทก์เป็นฝ่ายผู้ให้กู้อีกทั้งมีข้อความระบุย้ำอีกว่า สัญญากู้ยืมเงินฉบับนี้ทำในนามของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นเจตนารมณ์อันชัดแจ้งของคู่สัญญาว่ามุ่งเน้นให้จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่เป็นคู่สัญญากับโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ลงชื่อในสัญญาก็เป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล โดยจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยที่ 1 หาใช่จำเลยที่ 2 กระทำในฐานะส่วนตัวไม่ แม้มิได้ประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 1 ไว้ จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินการที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกู้ยืมเงินโจทก์ด้วยถือเป็นเรื่องนอกเหนือจากข้อความในสัญญากู้ยืมเงิน เป็นการนำสืบเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 จำเลยทั้งสองกู้เงินโจทก์จำนวน 1,000,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาชำระเงินคืนไว้ ต่อมาวันที่ 7ตุลาคม 2535 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระเงินกู้ดังกล่าวภายในกำหนด 3 วัน นับแต่วันรับหนังสือดังกล่าว จำเลยทั้งสองรับแล้วเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญากู้เงินไม่มีข้อความว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเงินกู้ไปในวันทำสัญญา เหตุที่ทำสัญญากู้ดังกล่าวเนื่องจากโจทก์ว่าจ้างจำเลยทั้งสองปลูกบ้านและจำเลยที่ 2 คิดค่าปลูกสร้างและอุปกรณ์เป็นเงินทั้งสิ้น 1,500,000บาท โจทก์ตกลงว่าจะจ่ายเงินให้ก่อน 1,000,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินในนามของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ประทับตราบริษัทจำเลยที่ 1 และไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงบอกยกเลิกสัญญากู้ยืมเงินฉบับดังกล่าว ต่อมาวันที่ 25 กรกฎาคม 2535 โจทก์ขอร้องให้จำเลยที่ 2พาโจทก์ไปที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี เพื่อจำนองที่ดิน ต่อมาภายหลังโจทก์ให้จำเลยที่ 2 สั่งอุปกรณ์การก่อสร้างและลงมือปลูกบ้านโดยโจทก์บอกว่าเมื่อปลูกบ้านเสร็จจะหาเงินมาร่วมลงทุนด้วย จำเลยที่ 2 หลงเชื่อจึงทำการปลูกบ้านให้โจทก์ แต่แล้วโจทก์ไม่ยอมคิดบัญชีค่าปลูกบ้านและอุปกรณ์ที่ตกลงกันไว้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2535 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน จำนวน 1,000,000 บาท ให้ไว้แก่โจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.1
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 หรือไม่ ในปัญหาดังกล่าว โจทก์นำสืบว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกู้ยืมเงินไปจากโจทก์ และจำเลยที่ 2 เองได้แจ้งโจทก์ว่า เหตุที่ไม่ประทับตราบริษัทจำเลยที่ 1 ก็เพื่อจำเลยที่ 2 จะได้ผูกพันตามสัญญากู้ยืมเงินด้วย แต่ในข้อนี้เมื่อพิเคราะห์หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ตามเอกสารหมาย จ.1 แล้วเห็นว่า ข้อความเบื้องต้นของสัญญาระบุไว้ชัดแจ้งว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับนี้ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผู้กู้ส่วนโจทก์เป็นฝ่ายผู้ให้กู้ อีกทั้งในข้อ 2 ของสัญญาก็มีข้อความระบุย้ำอีกว่า สัญญากู้ยืมเงินฉบับนี้ทำในนามของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นเจตนารมณ์อันชัดแจ้งของคู่สัญญาว่ามุ่งเน้นให้จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่เป็นคู่สัญญากับโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ลงชื่อในสัญญาก็เป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล โดยจำเลยที่ 2เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยที่ 1 หาใช่จำเลยที่ 2 กระทำในฐานะส่วนตัวไม่ แม้มิได้ประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 1 ไว้ก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์ฟ้อง อีกทั้งการที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกู้ยืมเงินโจทก์ด้วยนั้นก็ถือเป็นเรื่องนอกเหนือจากข้อความในสัญญาดังกล่าว เป็นการนำสืบเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันเป็นการต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข)
พิพากษายืน