คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4449/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถของโจทก์ที่ 1 ชนกับรถของจำเลยที่ 2 แม้ส.คนขับรถ ของโจทก์ที่ 1 จะขับรถโดยประมาทเลินเล่อด้วยแต่โจทก์ที่ 4 เป็นเพียงนั่งโดยสารมากับรถของโจทก์ที่1 คันเกิดเหตุมิได้มีส่วน ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นด้วยจำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 4 เต็มจำนวนโดยไม่อาจแบ่ง ความรับผิดให้แก่โจทก์ที่ 4 ได้ และปัญหาข้อนี้เกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ที่ 4 จะไม่ได้ยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อความเป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 4ได้
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารถของโจทก์ที่ 1 ชนกับรถของจำเลยที่ 2 เพราะส. ซึ่งเป็นคนขับรถของโจทก์ที่ 1และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็น คนขับรถของจำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาทเลินเล่อด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่จำเลยที่ 1เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อมากกว่ากรณีเช่นนี้ จำเลยที่2 ซึ่งเป็นฝ่ายผิดมากกว่าก็ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็น ฝ่ายผิดน้อยกว่าให้รับผิดในความเสียหายของจำเลยที่ 2 ได้ ปัญหาดังกล่าวนี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่ง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณาโดยให้เรียกนายสกล คณารักษ์สมบัติ เป็นโจทก์ที่ 1 นางเพชร หงษ์ทอง เป็นโจทก์ที่ 2 นายเป็น แซ่โค้ว เป็นโจทก์ที่ 3 นางไพรเส็ง หรือบุญสิน แซ่ฉั่ว เป็นโจทก์ 4 นายสุนทร ดีเรืองเดช เป็นจำเลยที่ 1 นายปัญญา เต็มเจริญ เป็นจำเลยที่ 2 บริษัทขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 3
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยทั้งสามว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ขับรถยนต์โดยสารประจำทางในทางการที่จ้างหรือมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยประมาณชนกับรถของโจทก์ที่ 1 โดยมีนายสุพล หงษ์ทองบุตรของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 เป็นคนขับ และโจทก์ที่ 4 นั่งโดยสารมาในรถยนต์คันที่นายสุพลขับเป็นเหตุให้นายสุพล หงษ์ทอง ถึงแก่ความตายและโจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 227,940 บาท โจทก์ที่ 2 ที่ 3 จำนวน 155,845 บาท โจทก์ที่ 4จำนวน 125,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทของนายสุพล หงษ์ทองผู้ตายฝ่ายเดียว เป็นเหตุสุดวิสัยของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ไม่ใช่ทายาทของนายสุพล หงษ์ทอง จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมาย โจทก์เรียกค่าเสียหายมาสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถร่วมกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างหรือมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2เหตุเกิดโดยไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ที่ 1 เป็นสำนวนที่ 4 ว่า นายสุพล หงษ์ทอง ลูกจ้างโจทก์ที่ 1ขับรถยนต์โดยประมาทชนรถของจำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ใช้เงิน 1,454,270.75 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่จำเลยที่ 2
โจทก์ที่ 1 ให้การว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 ไม่ต้องรับผิด ฟ้องของจำเลยที่ 2 เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนที่ 1 ถึงสำนวนที่ 3 ให้จำเลยในสำนวนที่ 4 (โจทก์ที่ 1) ใช้ค่าเสียหาย 510,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในสำนวนที่ 4 (จำเลยที่ 2)
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ในสำนวนที่ 1 ถึงสำนวนที่ 3ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ในสำนวนที่ 1 เป็นเงิน 100,053.34 บาทชดใช้ให้โจทก์ที่ 1 ในสำนวนที่ 2 เป็นเงิน 46,000 บาท ชดใช้ให้โจทก์ในสำนวนที่ 3เป็นเงิน 25,333.34 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ในสำนวนที่ 2ให้จำเลยในสำนวนที่ 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ในสำนวนที่ 4 เป็นเงิน99,333.33 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ทั้งจำเลยที่ 1 และนายสุพลขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทมากกว่าแล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ให้ลดค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยทั้งสามจะต้องใช้ให้แก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 38,000 บาท ลงหนึ่งในสาม คงเหลือเพียง25,333.34 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์ที่ 4 หาได้มีส่วนร่วมในการประมาทเลินเล่อของนายสุพลหรือต้องรับผิดร่วมกับนายสุพลไม่กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 4 ได้รับความเสียหายโดยมิได้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นด้วย ศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจแบ่งความรับผิดให้แก่โจทก์ที่ 4 ดังเช่นกรณีของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 จำเลยทั้งสามต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 4เต็มจำนวน 38,000 บาท ปัญหาข้อนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้โจทก์ที่ 4 จะไม่ได้ยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อความเป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 4
มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยที่ 2 เพียงใดหรือไม่ ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2เสียหายเป็นเงิน 298,000 บาท โจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดหนึ่งในสาม เป็นเงิน 99,333.33 บาท โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต่างฎีกา ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถของโจทก์ที่ 1 ชนกับรถของจำเลยที่ 2 เพราะนายสุพลซึ่งเป็นคนขับรถของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนขับรถของจำเลยที่ 2ขับรถโดยประมาทเลินเล่อด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นฝ่ายผิดมากกว่าก็ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายผิดน้อยกว่าให้รับผิดในความเสียหายของจำเลยที่ 2 ได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยที่ 2 นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปัญหานี้ก็เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 38,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนที่ 4(สำนวนที่จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ที่ 1) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share