แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ไล่โจทก์ออกจากงาน ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมและจ่ายค่าจ้างในระหว่าง ถูกเลิกจ้าง เป็นการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา49ซึ่งมีประเด็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้ว ศาลแรงงานกลางชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโดยไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่น การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยล่วงเลยไปด้วยว่าความผิดของโจทก์ ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์โดยที่โจทก์มิได้มีคำขอมาด้วย เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และไม่ใช่กรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความซึ่งศาลแรงงานกลางจะมีอำนาจ พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอได้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 52 ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2527จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานโดยกล่าวหาว่าโจทก์ซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งงดการปฏิบัติหน้าที่ ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานขับรถแทนนายสายันต์พนักงานขับรถของจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา และนายสายันต์ได้รับค่าจ้างไปจากจำเลย เป็นการกระทำผิดตามข้อบังคับของจำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริงโจทก์มิได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม และให้จำเลยจ่ายเงินรายได้ของโจทก์วันละ81 บาท นับแต่วันที่ 18 เมษายน 2527 ซึ่งเป็นวันสั่งพักงานจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน
จำเลยให้การว่า จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์กระทำผิดต่อข้อบังคับของจำเลยโดยกระทำการตามฟ้อง การที่โจทก์ซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งงดการปฏิบัติหน้าที่ ได้ทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถแทนนายสายันต์อาจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับของจำเลยจำเลยมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบข้อบังคับของจำเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมแต่การกระทำของโจทก์ไม่เป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายไม่เข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 เพื่อความเป็นธรรมเห็นสมควรให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 14,580 บาทแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยซึ่งสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมและให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างถึงวันที่รับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด เป็นการฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 ประเด็นซึ่งจะต้องวินิจฉัยจึงมีว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมหรือไม่หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ ดังนั้นเมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลย ซึ่งศาลแรงงานกลางถือว่าไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแล้ว ศาลแรงงานกลางชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโดยไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่น แต่การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยล่วงเลยไปด้วยว่า ความผิดของโจทก์ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 ซึ่งจำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์โดยที่โจทก์มิได้มีคำขอบังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยนั้นเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ทั้งไม่ใช่กรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความซึ่งศาลแรงงานกลางจะมีอำนาจพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับได้ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางเรื่องค่าชดเชย จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52และปัญหาข้อนี้ แม้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง