คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3705/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าเรือที่โจทก์จำเลยทำกันไว้เดิมเป็นสัญญาเช่าเรือกินริกิ เมื่อเรือดังกล่าวจมลงสัญญาเช่าเรือกินริกิ ย่อมระงับไปแต่เมื่อตามเจตนา และทางปฏิบัติในระหว่างโจทก์กับจำเลยเห็นได้ว่าโจทก์และจำเลย ตกลงกันให้ถือเอาสัญญาเช่าเรือกินริกิที่ได้ทำสัญญากันไว้นั้น มาเป็นสัญญาเช่าเรือลำใหม่โดยอนุโลมและมิต้องทำสัญญากันใหม่ การเช่าเรือลำใหม่จึงต้องเป็นไปตามข้อสัญญาเช่าเรือกินริกิ ความชำรุดบกพร่องของเรือถ้าไม่เป็นเหตุถึงแก่ผู้เช่าจะต้อง ปราศจากการใช้และประโยชน์ ทั้งผู้ให้เช่ายังแก้ไขได้กรณีไม่เข้าเกณฑ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 548แต่เป็นไปตาม มาตรา 551 ที่ผู้เช่าจะต้องบอกกล่าวแก่ผู้ให้เช่าให้จัดการแก้ไข ความชำรุดบกพร่องนั้นก่อนเมื่อปรากฏว่าก่อนมีการบอกเลิกสัญญา จำเลยผู้เช่าไม่เคยบอกกล่าวให้โจทก์ผู้ให้เช่าจัดการแก้ไข ความชำรุดบกพร่องมาก่อนเลยการบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบ หลังจากบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์แล้วจำเลยได้ส่งมอบเรือที่เช่าคืน ให้แก่โจทก์โดยไม่ยอมเช่าเรือดังกล่าวอีกต่อไปจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา และชอบที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แต่โจทก์มิได้ ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยกลับเรียกร้องค่าเช่าที่ยังไม่ครบกำหนด ตามสัญญาเช่าประกอบกับเรือที่เช่าอยู่ในความครอบครองของโจทก์ ตลอดมาจำเลยมิได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในเรือดังกล่าว จำเลย จึงไม่จำต้องรับผิดในค่าเช่าที่ยังไม่ครบกำหนดตามสัญญาเช่า โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการต่างๆ รวมทั้งการเช่า หรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์ การที่โจทก์ให้จำเลยเช่าเรือจึงถือได้ว่าโจทก์ เป็นผู้ประกอบการค้าในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกร้อง ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างจึงตกอยู่ในอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(6) ส่วนกรณีที่โจทก์ ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเดินเรือขนส่งสินค้า ของจำเลยซึ่งโจทก์เป็นผู้ออกเงินทดรองไปมิใช่เป็นเรื่องผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่าดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 563 แต่เป็นกรณีที่ต้อง บังคับตามมาตรา 164 ซึ่งกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์จำเลยยังตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับภาษาและข้อบังคับที่จะให้ อนุญาโตตุลาการใช้ในการพิจารณา และอนุญาโตตุลาการของทั้งสองฝ่าย ยังไม่มีโอกาสพบปะดำเนินการพิจารณารวมกันทั้งยังไม่ได้รับข้อกล่าวหา ของโจทก์และข้อต่อสู้ของจำเลย ไว้โดยโจทก์เพียงแต่มอบหลักฐาน และข้อเรียกร้องของตนไว้แก่อนุญาโตตุลาการของโจทก์เท่านั้น กรณีจึงถือไม่ได้ว่าได้มีการมอบคดีให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา อันจะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา173 ค่าเสียหายตามที่จำเลยอ้างถึง จำเลยเพียงแต่ให้การต่อสู้ข้อหา ของโจทก์โดยอ้างว่าจำเลยได้รับความเสียหายจากการเช่าเรือของโจทก์ หากจำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ก็ขอเอาค่าเสียหายดังกล่าว หักกลบลบหนี้ โดยจำเลยมิได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์จำนวน ค่าเสียหายก็ยังไม่แน่นอนทั้งโจทก์ก็นำสืบปฏิเสธค่าเสียหายตามที่ จำเลยกล่าวอ้างจึงเป็นหนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่จำเลยไม่มีสิทธิที่จะ ขอ หักกลบลบหนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าเรือชื่อกินริกิจากโจทก์เป็นเวลา 24 เดือนต่อมาเรือกินริกิประสบอุบัติเหตุจมลง จำเลยให้โจทก์หาซื้อเรือลำใหม่มาให้จำเลยเช่าโดยให้ถือเอาสัญญาเช่าเดิมเป็นสัญญาเช่าเรือลำใหม่ โจทก์จึงซื้อเรือลำใหม่ชื่อกัวม่าหรือชรินธร 1 มาจากไต้หวันและส่งมอบให้จำเลยรับไป จำเลยจ่ายค่าเช่าอยู่ 7 เดือน ก็ผิดนัดและค้างชำระค่าเช่าเรื่อยมา ต่อมาจำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าต่อโจทก์ โดยไม่มีสิทธิบอกเลิกก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่าต้องถือว่าสัญญาเช่ายังมีผลบังคับอยู่ จำเลยต้องรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าเช่าที่ยังไม่ครบกำหนดตามสัญญาเช่า รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์ได้ออกทดรองไปแทนจำเลยให้แก่โจทก์ ขอให้พิพากษาและบังคับ
จำเลยให้การว่า สัญญาเช่าที่จำเลยทำไว้ต่อโจทก์เป็นสัญญาเช่าเรือกินริกิเมื่อเรือดังกล่าวจมลง สัญญาเช่าย่อมระงับไป โจทก์จำเลยไม่เคยตกลงกันให้ถือเอาสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นสัญญาเช่าเรือลำอื่น ต่อมาโจทก์เสนอให้จำเลยเช่าเรือกัวม่าหรือชรินธร 1 โดยอ้างว่ามีรายละเอียดใกล้เคียงกับเรือกินริกิ จำเลยเชื่อคำยืนยันของโจทก์จึงตกลงเช่าเรือกัวม่าโดยไม่ได้ทำสัญญาเช่ากันใหม่หรือตกลงให้เอาสัญญาเช่าเดิมมาใช้แก่เรือกัวม่า และไม่ได้กำหนดระยะเวลาเช่าเป็นเวลาถึง 24 เดือนดังโจทก์อ้าง จำเลยมิได้ค้างชำระค่าเช่าการเช่าไม่มีกำหนดเวลา จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาในเดือนต่อ ๆ ไปได้ และหลังจากบอกเลิกการเช่าแล้วจำเลยไม่ได้ใช้หรือได้ประโยชน์จากเรือของโจทก์อีก การเช่าเรือกัวม่าของโจทก์ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เพราะเรือกัวม่ามีความเร็วไม่ถึงตามที่โจทก์รับรองและไม่อยู่ในสภาพเหมาะสมที่จะเดินทางในทะเลหลวง หากศาลเห็นว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ ก็ขอให้เอายอดค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องรับผิดมาหักกลบลบหนี้การบอกเลิกสัญญาของจำเลยเป็นไปโดยชอบ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าในกรณีที่การบอกเลิกสัญญาไม่ชอบ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ การบอกเลิกสัญญาของจำเลยไม่ชอบ ไม่ทำให้สัญญาเช่าเรือซึ่งมีกำหนดระยะเวลาระงับ จำเลยต้องรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าใช้จ่ายในการเดินทางขนส่งสินค้าของจำเลยแต่ไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าในระหว่างที่ไม่ได้ใช้เรือกัวม่า จำเลยไม่มีสิทธิขอหักกลบลบหนี้ พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,070,056.48 บาท แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การเช่าเรือพิพาทเป็นการเช่าโดยไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรและไม่มีกำหนดเวลา จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้การฟ้องเรียกค่าเช่าขาดอายุความ จำเลยต้องรับผิดเฉพาะค่าใช้จ่ายที่โจทก์ออกทดรองไป และไม่มีสิทธิขอหักกลบลบหนี้ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 763,056.48 บาทแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรกที่ว่า โจทก์จำเลยตกลงกันให้ถือเอาสัญญาเช่าเรือกินริกิมาเป็นสัญญาเช่าเรือกัวม่าอันเป็นเรือที่พิพาทกันในคดีนี้หรือไม่นั้น เห็นว่าแม้สัญญาเช่าเรือที่โจทก์จำเลยทำสัญญาให้ไว้ต่อกัน เป็นสัญญาเช่าเรือกินริกิและเมื่อเรือดังกล่าวจมลงสัญญาเช่าเรือกินริกิย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 แต่ในเรื่องนี้โจทก์อ้างว่าจำเลยได้ตกลงเช่าเรือกัวม่าหรือเรือชรินธร 1 อันเป็นเรือลำใหม่โดยให้ถือเอาข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิมที่ทำให้ไว้ต่อกัน ตามเอกสารหมาย จ.42 เป็นสัญญาเช่าเรือกัวม่าหรือเรือชรินธร 1โดยมิได้ทำสัญญาเช่ากันใหม่แต่อย่างใด การพิจารณาปัญหาดังกล่าวจึงต้องคำนึงถึงเจตนาและการปฏิบัติต่อกันในระหว่างคู่สัญญาเป็นข้อสำคัญ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาเช่าหรือกันไว้เพียงฉบับเดียว คือสัญญาเช่าเรือกินริกิกำหนดอายุสัญญาเช่าระยะเวลา 24 เดือน คิดอัตราค่าเช่าเดือนละ 1,200,000 บาทและผู้เช่ามีหน้าที่ต้องจัดการและจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในข้อ 4 แห่งสัญญาดังกล่าว หลังจากเรือกินริกิเกิดอุบัติเหตุถูกชนจมลง โจทก์เสนอเรือกัวม่าหรือเรือชรินธร 1 ให้จำเลยเช่า แม้จำเลยเพียงรับทราบข้อเสนอของโจทก์ แต่ต่อมาก็ได้มีการตกลงเช่าเรือกัวม่าหรือเรือชรินธร 1 ตามข้อเสนอของโจทก์ โดยโจทก์ได้ส่งมอบเรือกัวม่าหรือเรือชรินธร 1 ให้จำเลยผู้เช่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2518 และมิได้มีการทำสัญญาเช่ากันใหม่ ในวันเดียวกันนั้น จำเลยได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าให้โจทก์เป็นจำนวนเงิน 1,200,000 บาท เท่ากับอัตราค่าเช่าเรือกินริกิตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเอกสารหมาย จ.52 และโจทก์ได้มีหนังสือยืนยันไปยังจำเลยถึงการชำระค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามสัญญาเช่าเรือ ต่อมาจำเลยได้ใช้เรือกัวม่าหรือเรือชรินธร 1 ที่เช่าขนสินค้าของจำเลยไปยังประเทศพม่าและอินโดนีเซีย โจทก์ได้ทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่จำเลย จำเลยได้ชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วอันเป็นข้อแสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติการชำระหนี้เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆดังกล่าวนี้เป็นไปตามข้อสัญญาเช่าเรือโดยมีกำหนดเวลาตามที่ได้ตกลงกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.42 นั่นเอง นอกจากนี้หลังจากที่จำเลยบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ต่อมาจำเลยได้มีหนังสือแจ้งยืนยันการบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ โดยอ้างว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาตามความในข้อ 21(เอ) หรือ ข้อ 21(ก) แห่งสัญญาเช่าเรือเอกสารหมาย จ.42 และเมื่อจำเลยมีหนังสือ ลงวันที่ 14 มกราคม 2520 แจ้งไปยังโจทก์ถึงเรื่องการตั้งนายเชสโต เวคกิ เป็นอนุญาโตตุลาการของจำเลย จำเลยก็ระบุถึงสัญญาเช่าเรือโดยมีกำหนดเวลาระหว่างโจทก์กับจำเลย เท่าที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นเจตนาและทางปฏิบัติในระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับการเช่าเรือกัวม่าหรือเรือชรินธร 1 โดยตรง กรณีเป็นอันเชื่อได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันให้ถือเอาสัญญาเช่าเรือกินริกิที่ได้ทำสัญญาให้ไว้ต่อกันตามเอกสารหมาย จ.42 มาเป็นสัญญาเช่าเรือกัวม่าหรือชรินธร 1 อันเป็นเรือที่พิพาทกันในคดีนี้โดยอนุโลม การเช่าเรือกัวม่าหรือเรือชรินธร 1 ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงต้องเป็นไปตามข้อสัญญาเช่าเรือเอกสารหมาย จ.42 โดยการเช่ามีกำหนดระยะเวลา 24 เดือน
ปัญหาที่ว่า จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าหรือไม่นั้น เมื่อโจทก์และจำเลยตกลงกันให้ถือเอาสัญญาเช่าเรือกินริกิที่ทำไว้ต่อกันตามเอกสารหมาย จ.42 มาเป็นสัญญาเช่าเรือกัวม่าหรือเรือชรินธร 1 โดยอนุโลมการเช่าเรือกัวม่าหรือชรินธร 1จึงต้องเป็นไปตามสัญญาเช่าเรือเอกสารหมาย จ.42 โดยเป็นการเช่าที่มีกำหนดระยะเวลา 24 เดือนเช่นเดียวกัน การที่จำเลยใช้เรือกัวม่าหรือเรือชรินธร 1 ที่เช่าขนส่งสินค้าของจำเลยไปยังประเทศพม่าและอินโดนีเซียเป็นเวลา 1 ปี แล้วจำเลยมีหนังสือบอกเลิกการเช่าต่อโจทก์โดยอ้างว่าเนื่องมาจากสภาวการณ์อันอยู่นอกเหนือการควบคุมของจำเลยและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่าซึ่งจำเลยจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในข้อสัญญาหรือมีเหตุอื่นที่กฎหมายให้อำนาจ แต่การบอกเลิกสัญญาของจำเลยดังกล่าวหาเป็นเช่นนั้นไม่ แม้ต่อมาจำเลยจะได้มีหนังสือแจ้งยืนยันการบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.59 โดยอ้างว่าเรือชำรุดบกพร่องข้อชำรุดบกพร่องที่ว่านี้ไม่ปรากฏถึงความไม่เหมาะสมแก่การที่จะใช้เดินทางในทะเลหลวงแต่อย่างใด สภาพความชำรุดบกพร่องของเรือกัวม่าหรือเรือชรินธร 1ดังกล่าว ถ้าได้มีการซ่อมแซมให้ดีเหมือนเดิมแล้วก็เหมาะสมที่จะใช้เดินทางในทะเลหลวงได้ กรณีจึงเป็นที่เห็นได้ว่าความชำรุดบกพร่องของเรือกัวม่าหรือเรือชรินธร 1 ไม่เป็นเหตุถึงแก่ผู้เช่าจะต้องปราศจากการใช้และประโยชน์ และผู้ให้เช่ายังแก้ไขได้ซึ่งในกรณีเช่นนี้ไม่เข้าเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 548 แต่เป็นไปตามมาตรา 551 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บัญญัติให้ผู้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้ให้เช่าให้จัดการแก้ไขความชำรุดบกพร่องนั้นก่อนถ้าและผู้ให้เช่าไม่จัดทำให้คืนดีภายในเวลาอันสมควร ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้หากว่าความชำรุดบกพร่องนั้นร้ายแรง ถึงสมควรจะทำเช่นนั้น แต่ในเรื่องนี้ปรากฏว่าก่อนมีการบอกเลิกสัญญา จำเลยผู้เช่าไม่เคยบอกกล่าวให้โจทก์ผู้ให้เช่าจัดการแก้ไขความชำรุดบกพร่องของเรือกัวม่าหรือเรือชรินธร 1 มาก่อนเลย การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบ จำเลยคงผูกพันตามสัญญาในอันที่จะต้องเช่าเรือกัวม่าหรือเรือชรินธร 1 ของโจทก์ต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อจำเลยได้ส่งมอบเรือกัวม่าหรือเรือชรินธร 1 อันเป็นทรัพย์สินที่เช่าคืนให้แก่โจทก์ภายหลังการบอกเลิกสัญญา คือนับตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2519 เป็นต้นมาโดยไม่ยอมเช่าเรือดังกล่าวอีกต่อไป จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและชอบที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
ปัญหาที่ว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดและคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในค่าเช่าที่ค้างชำระก่อนมีการบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,100,000 บาท กับให้รับผิดในค่าเช่าที่ยังไม่ครบกำหนดตามสัญญาเช่าอีก 1 ปี เป็นเงิน 14,400,000 บาท และให้จำเลยชดใใช้ค่าใช้จ่ายในการเดินเรือขนส่งสินค้าของจำเลยอีกรวม 5 เที่ยวรวมทั้งค่าน้ำมันส่วนที่มีราคาสูงขึ้นซึ่งจำเลยยังไม่ได้ชำระให้โจทก์เป็นเงินรวม 970,056.48 บาท ก่อนอื่นจะได้วินิจฉัยข้อเรียกร้องของโจทก์เกี่ยวกับค่าเช่าที่ยังไม่ครบกำหนดตามสัญญาเช่าอีก1 ปี เป็นเงิน 14,400,000 บาท โดยข้อเท็จจริงตามที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นได้ความว่าหลังจากที่ได้บอกเลิกสัญญาต่อโจทก์แล้ว จำเลยได้ส่งมอบเรือที่เช่าคืนให้แก่โจทก์ตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2519 เป็นต้นมาโดยไม่ยอมเช่าเรือดังกล่าวอีกต่อไปจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและชอบที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แต่โจทก์มิได้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ประกอบกับเรือที่เช่าอยู่ในความครอบครองของโจทก์ตลอดมา จำเลยมิได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในเรือดังกล่าวอันจะต้องรับผิดในค่าเช่าที่ยังไม่ครบกำหนดตามสัญญาเช่าอีก 1 ปีให้แก่โจทก์ดังนั้น จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดในค่าเช่าที่ยังไม่ครบกำหนดตามสัญญาเช่าอีก1 ปี ดังที่โจทก์ฟ้อง ส่วนกรณีเกี่ยวกับค่าเช่าที่ค้างชำระก่อนมีการบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,100,000 บาทนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการต่าง ๆ หลายประการรวมทั้งการเช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์ การที่โจทก์ให้จำเลยเช่าเรือกัวม่าหรือเรือชรินธร 1 จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างจึงตกอยู่ในอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(6)แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนด 2 ปี โจทก์อ้างว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ เพราะโจทก์มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา อันเป็นผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความแต่เพียงว่า โจทก์และจำเลยตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นฝ่ายละคนแต่ทนายความผู้รับมอบอำนาจของทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับภาษาและข้อบังคับที่จะให้อนุญาโตตุลาการใช้ในการพิจารณา โดยอนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่ายยังไม่มีโอกาสพบปะดำเนินการพิจารณาร่วมกัน ทั้งยังไม่ได้รับข้อกล่าวหาของโจทก์และข้อต่อสู้ของจำเลยไว้เลย โดยโจทก์เพียงแต่มอบหลักฐานและข้อเรียกร้องของตนให้ไว้แก่อนุญาโตตุลาการของโจทก์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าได้มีการมอบคดีให้อนุญาโตตุลาการของทั้งสองฝ่ายพิจารณา อันจะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 173 ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง คดีของโจทก์ที่เกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างจำนวน 2,100,000 บาทจึงขาดอายุความ
ส่วนกรณีเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเดินเรือขนส่งสินค้าของจำเลยรวม 5 เที่ยวนั้นข้อเท็จจริงเป็นอันฟังได้ว่าจำเลยยังมิได้ชำระค่าใช้จ่ายในการใช้เรือที่เช่าเดินทางขนส่งสินค้าของจำเลยเป็นจำนวน 702,154.34 บาท และกรณีที่เกี่ยวกับอายุความในเรื่องนี้แม้สัญญาเช่าเรือระบุให้จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่ามีหน้าที่ต้องออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการเดินเรือขนส่งสินค้าของจำเลยก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ออกเงินจ่ายทดรองไปสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นและเรียกร้องให้จำเลยชำระคืนให้แก่โจทก์กรณีจึงมิใช่เรื่องที่โจทก์ผู้ให้เช่าฟ้องจำเลยผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่าดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 ดังข้อฎีกาของจำเลย หากแต่เป็นกรณีที่จะต้องบังคับตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 กล่าวคือสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในเรื่องนี้มีกำหนดอายุความ 10 ปี คดีของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาที่ว่าจำเลยมีสิทธิที่จะนำเอาค่าเสียหายมาขอหักกลบลบหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์เพียงใด เห็นว่า ค่าเสียหายตามที่จำเลยอ้างถึงจำเลยเพียงแต่ยื่นคำให้การต่อสู้ข้อหาของโจทก์โดยอ้างว่าจำเลยได้รับความเสียหายจากการเช่าเรือของโจทก์อย่างร้ายแรง อันเนื่องมาจากเหตุที่ต้องสูญเสียเวลาในการเดินทางนานเกินไปโดยไม่จำเป็น และการสูญเสียเวลาจากการเอาสินค้าขึ้นเรือตลอดจนการขาดความระมัดระวังในการปรับปรุงเรือให้อยู่ในสภาพเหมาะสมที่จะใช้เดินทางในทะเลหลวง ทำให้สินค้าของจำเลยเปียกน้ำและลูกค้ารายใหญ่ของจำเลยงดการสั่งซื้อ รวมเป็นค่าเสียหายเป็นเงินประมาณ 12,368,000 บาทหากจำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ก็ขอเอายอดค่าเสียหายดังกล่าวหักกลบลบหนี้ โดยจำเลยหาได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากโจทก์แต่ประการใดไม่ ตัวเลขจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยได้รับจากการเช่าเรือชรินธร 1คำนวณไม่ได้แน่นอน ประกอบกับค่าเสียหายตามที่จำเลยกล่าวอ้างมานี้ฝ่ายโจทก์ก็นำสืบปฏิเสธอ้างว่ามิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาค่าเสียหายตามที่จำเลยกล่าวอ้างจึงเป็นหนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่ จำเลยไม่มีสิทธิที่จะขอหักกลบลบหนี้รายนี้
สรุปแล้วจำเลยคงรับผิดชำระค่าใช้จ่ายตามที่โจทก์ได้จ่ายทดรองไปให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 702,154.34 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 702,154.34 บาท

Share