คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3536/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันดำเนินกิจการจัดหาเงินจากประชาชน และให้กู้ยืมเงินในระยะสั้นเป็นทางค้าปกติโดยรับเงินจากประชาชนแล้ว ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้เจ้าของเงินไว้รวม 70 รายการและยังให้ บริษัทเงินทุน2บริษัทกู้ยืมเงินไปโดยจำเลยรับซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน อีก6รายการเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจเงินทุนฯพ.ศ.2522. จำเลยทั้งสี่ยอมให้การรับสารภาพไม่ต่อสู้คดีและมิได้ นำพยานหลักฐานเข้านำสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าวการที่จำเลยฎีกา ว่าไม่มีเจตนากระทำความผิดอีกย่อมรับฟังไม่ได้
บริษัทจำเลยที่ 1 กระทำความผิดซึ่งจะต้องรับโทษตามมาตรา 71 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่1จะต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ สำหรับความผิดนั้นๆ เช่นเดียวกับบริษัทจำเลยที่1เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 71 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯบัญญัติให้ ลงโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ 2 ขั้นคือเมื่อลงมือกระทำผิด ต้องถูกลงโทษขั้นแรก จำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับและ ตลอดเวลาที่กระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษในขั้นที่สองอีกโดยปรับไม่เกินวันละห้าพันบาทโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นความผิดกรรมเดียวกันหรือไม่ก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 เป็นกรรมการ จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงิน ให้กู้ยืมและอื่น ๆแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุน เมื่อระหว่างวันที่ 20 กันยายน 2524เวลากลางวันถึงวันที่ 7 มกราคม 2525 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับเงินจากประชาชนโดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินแก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินรวม 70 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 5,863,092 บาท และเมื่อระหว่างวันที่ 22 กันยายน2524 เวลากลางวันจนถึงวันที่ 12 มกราคม 2525 เวลากลางวันต่อเนื่องกันจำเลยทั้งสี่ร่วมให้กู้ยืมเงินระยะสั้นแก่บริษัทเงินทุนเยาวราช จำกัด และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อาทรทรัสท์ จำกัด โดยจำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัทเงินทุนทั้งสองดังกล่าวรวม 6 รายการ เป็นเงิน 7,500,000 บาท การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการประกอบธุรกิจเงินทุนประเภทกิจการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์ โดยจำเลยมิใช่บริษัทเงินทุน และโดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เหตุเกิดที่แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522มาตรา 4, 11, 71 และ 78 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 11 และ 78 ให้ลงโทษตามมาตรา 11, 71ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 8,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 คนละ 4 เดือนและปรับคนละ 6,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 คนละ 2 เดือนและปรับคนละ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางไม่สมควรริบเพราะจำเลยได้รับอนุญาตให้ตั้งบริษัทถูกต้องในภายหลังแล้ว
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 คนละ 1 ปี กับให้ปรับจำเลยทั้งสี่อีกคนละ 2,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 คนละ 1 ปี กับให้ปรับจำเลยที่ ทั้งสี่อีกคนละ 2,000 บาทต่อวันเป็นเวลา 115 วัน รวมเป็นปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 300,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 คนละ 1 ปี และปรับคนละ 230,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 165,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 คนละ 6 เดือน และปรับคนละ 115,000 บาท ไม่รอการลงโทษ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนมีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกาโดยผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันดำเนินกิจการจัดหาเงินจากประชาชนและให้กู้ยืมเงินในระยะสั้นเป็นทางค้าปกติโดยรับเงินจากประชาชนแล้วออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้เจ้าของเงินไว้รวม 70 รายการ และยังให้บริษัทเงินทุน2 บริษัทกู้ยืมเงินไป โดยจำเลยรับซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินอีก 6 รายการ เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยทั้งสี่ยอมให้การรับสารภาพไม่ต่อสู้คดี และมิได้นำพยานหลักฐานเข้านำสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าวแต่ประการใด การที่ฎีกาว่าไม่มีเจตนากระทำความผิดอีกย่อมรับฟังไม่ได้ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำความผิดจริงดังฟ้อง
ตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 บัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษว่า เมื่อผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามมาตรา 71 เป็นนิติบุคคล กรรมการของนิติบุคคลนั้นหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 มิได้พิสูจน์ในข้อที่กฎหมายกำหนดไว้เลย จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จึงต้องรับโทษ
ตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ บัญญัติให้ลงโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ 2 ขั้น คือเมื่อลงมือกระทำผิดต้องถูกลงโทษขั้นแรกจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และตลอดเวลาที่กระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษในขั้นที่สองอีกโดยปรับไม่เกินวันละห้าพันบาทโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นความผิดกรรมเดียวกันหรือไม่ก็ตาม ศาลอุทธรณ์ปรับบทกำหนดโทษของจำเลยทั้งสี่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่คดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่ายังไม่ปรากฏว่าผู้ที่มาติดต่อกู้ยืมเงินจากจำเลยหรือให้จำเลยกู้ยืมเงินถูกฉ้อโกงหรือได้รับความเสียหาย และตามหลักฐานที่จำเลยอ้างมีการคืนเงินแก่ลูกค้าไปเกือบครบจำนวนแล้ว ทั้งจำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 ดำเนินกิจการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจึงสมควรกำหนดอัตราโทษให้เหมาะสมเสียใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท ให้จำคุกจำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 คนละ 6 เดือน และปรับคนละ 40,000 บาท และให้ปรับจำเลยทั้งสี่อีกวันละ1,000 บาทต่อคนเป็นเวลา 115 วัน รวมโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 215,000 บาทจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 165,000 บาท จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 107,500 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 คนละ 3 เดือน และปรับคนละ 82,500 บาท ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยกักขังแทนมีกำหนดคนละ 1 ปี พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีอีกครั้งจึงให้รอการลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share