คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3390/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น ตราบใดที่ลูกจ้างยังมิได้ ถูกเลิกจ้าง ลูกจ้างหามีสิทธิจะเรียกร้องไม่ลูกจ้างจะมีสิทธิเรียกร้องได้ ก็ต่อเมื่อถูกเลิกจ้างแล้วกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือลูกจ้างอาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้นับแต่วันถูกเลิกจ้างโจทก์ถูกเลิกจ้าง วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2528 โจทก์ฟ้อง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2528 อายุความแห่งสิทธิเรียกร้อง ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี พ.ศ.2526 จึงไม่ขาด อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(9) สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีย่อมเกิดขึ้นทันทีที่ลูกจ้างทำงานครบตามที่ กำหนดในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยหาจำต้อง ทำงานในปีต่อไป จนครบ1 ปีไม่ ระเบียบการของจำเลย ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กำหนดว่า พนักงาน ที่มีเวลาทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ 15 วันทำงานเมื่อโจทก์ทำงานครบ 5 ปีในปีใดในปีต่อไปย่อมเกิดสิทธิ แก่โจทก์ที่จะหยุดพักผ่อนได้15วันทำงานได้ทันทีจำเลยเลิกจ้างโจทก์วันที่ 22 กุมภาพันธ์2528 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อน ประจำปี 2528 ได้ 15 วัน(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2206/2528). ระเบียบการของธนาคารจำเลยมีว่า กรณีที่ลูกจ้างเจ็บป่วยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่การงานของตนได้โดยสม่ำเสมอแต่ไม่ ถึงทุพพลภาพ ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นสมควรให้ออกจากธนาคาร แล้วให้สั่งลูกจ้าง ออกจากงานได้จำเลยจึงมีอำนาจ เลิกจ้างโจทก์ได้ตามระเบียบการนี้ แต่เมื่อเลิกจ้างแล้ว จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ จะต้อง พิจารณาตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ซึ่งมีข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ46 วรรคสามและข้อ47(1) ถึง(6) การเจ็บป่วยไม่มีประสิทธิภาพไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นดังกล่าวประการใด ประการหนึ่งทั้งสิ้นจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ คำให้การของจำเลยตอนแรกมีความหมายเป็นนัยว่า เมื่อโจทก์ ออกจากงานได้รับเงินบำเหน็จเป็นจำนวนมากกว่าค่าชดเชย อยู่แล้ว เหตุใดจึงมาเรียกค่าชดเชยซึ่งเป็นจำนวนน้อยกว่าอยู่อีกส่วนความใน ตอนหลังปฏิเสธที่จะไม่จ่าย ค่าชดเชยเพราะเกี่ยวด้วยด้านตัวโจทก์เอง ที่ฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยอันต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ กำหนดไว้ส่วนข้อที่เงินบำเหน็จซึ่งจำเลยจ่ายให้โจทก์รับไปแล้วเป็นเงินประเภท เดียวกับ ค่าชดเชยหรือไม่โจทก์ฟ้องเรียกเงินประเภท เดียวซ้ำกันมาอีกหรือไม่ หามีในคำให้การไม่การที่ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเงินบำเหน็จที่ โจทก์ได้รับไปแล้ว เป็นเงินต่างประเภทกับค่าชดเชยจึง เป็นการ วินิจฉัยนอกประเด็นตามคำให้การไม่เป็นเหตุที่ จำเลยจะอุทธรณ์นอกประเด็น ตามคำคู่ความได้ และไม่เป็นการ ผูกพันศาลฎีกาจะต้องรับวินิจฉัย ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ข้อที่ว่าโจทก์ได้ทวงถามแล้วหรือไม่จำเลยมิได้ ปฏิเสธให้เป็น ประเด็นในคำให้การศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 21,640 บาท เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2528 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์เจ็บป่วยไม่อาจปฏิบัติงานได้โดยสม่ำเสมอ ซึ่งมิใช่เป็นการให้ออกเพราะโจทก์กระทำความผิด จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2526 ถึง พ.ศ. 2528 โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 129,840 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 32,135 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไป
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลหลายครั้ง ไม่สามารถปฏิบัติงานได้แพทย์มีความเห็นว่าสมควรให้โจทก์ออกจากงาน การเจ็บป่วยของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เพราะไม่มีพนักงานปฏิบัติงานอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ จำเลยจึงต้องเลิกจ้างโจทก์ตามระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 121 ข้อ 6.1 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยเพราะเข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เมื่อโจทก์ออกจากงานจำเลยได้จ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพแล้วเป็นเงิน 822,720 บาท ตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสินซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าค่าชดเชยที่โจทก์เรียกร้อง สำหรับค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2526 โจทก์หยุดมาแล้ว 6 วัน ที่ฟ้องเรียกมาเต็มจำนวนจึงไม่ถูกต้อง จำนวนวันที่เหลือโจทก์สมัครใจไม่หยุดเอง จำเลยมิได้ขัดขวางหรือระงับการใช้สิทธิของโจทก์และค่าจ้างสำหรับปี 2526 ขาดอายุความแล้ว ส่วนปี 2527 โจทก์ใช้สิทธิหยุดครบ15 วัน ปี 2528 โจทก์ทำงานไม่ครบกำหนดตามที่จำเลยกำหนด หากโจทก์มีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2528 โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนเฉลี่ยไม่ใช่ได้รับเต็ม 15 วันตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา โจทก์แถลงรับว่าปี 2526 โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีแล้ว6 วันจริง ปี 2527 โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีแล้ว 15 วันจริง จำเลยแถลงยอมรับว่าปี 2528 โจทก์ยังไม่ได้หยุดพักผ่อนก็ถูกเลิกจ้างเสียก่อน ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานคู่ความทั้งสองฝ่าย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยตามฟ้องสำหรับค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2526 ที่เหลืออีก 9 วัน ขาดอายุความแล้ว สำหรับปี 2528 โจทก์ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับคิดเป็นเงิน 1,546.65 บาท พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 129,840 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2528 จำนวน 1,546.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างให้แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 กำหนดว่า “ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ 47 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามข้อ 10 และข้อ 32 ด้วย” เห็นได้ว่าค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น ตราบใดที่ลูกจ้างยังมิได้ถูกเลิกจ้างลูกจ้างหามีสิทธิจะเรียกร้องไม่ ลูกจ้างจะมีสิทธิเรียกร้องได้ก็ต่อเมื่อถูกเลิกจ้างแล้วหรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ลูกจ้างอาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้นับแต่วันถูกเลิกจ้าง ซึ่งคดีนี้โจทก์ถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 22กุมภาพันธ์ 2528 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2528 อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี พ.ศ. 2526 จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(9)
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10 กำหนดไว้ว่า”ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่าปีละหกวันทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดล่วงหน้าให้
นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้า สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในปีอื่นก็ได้”
ตามระเบียบการของจำเลยกำหนดว่า พนักงานที่มีเวลาทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปลาได้ 15 วันทำงาน โจทก์ทำงานมาแล้วถึง 37 ปี 10 เดือน 21 วัน จึงปรับได้กับประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ดังกล่าวซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายโดยประกอบกับระเบียบการของจำเลยเอง ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งหากโจทก์ทำงานครบ 5 ปีในปีใด ในปีต่อไปย่อมเกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะหยุดพักผ่อนมีกำหนด15 วันทำงานได้ทันที โดยหาจำต้องทำงานในปีต่อไปนั้นจนครบ 1 ปีไม่โดยนัยนี้โจทก์ได้ลาหยุดพักผ่อนประจำปี พ.ศ. 2527 แล้วตามสิทธิ ในปีต่อไปคือ พ.ศ. 2528โจทก์ยังทำงานต่อมาอีก สิทธิของโจทก์ที่จะหยุดพักผ่อน 15 วันย่อมเกิดขึ้นทันทีโดยหาจำต้องทำงานให้ครบ 1 ปี ใน พ.ศ. 2528 ไม่
ระเบียบการของจำเลยกำหนดว่า กรณีที่โจทก์เจ็บป่วยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่การงานของตนได้โดยสม่ำเสมอแต่ไม่ถึงทุพพลภาพ ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นสมควรให้ออกจากธนาคารแล้ว ให้สั่งโจทก์ออกจากธนาคารได้นั้น แม้ระเบียบมีอยู่เช่นนี้จริงแต่การเจ็บป่วย ไม่มีประสิทธิภาพ หาใช่เป็นการกระทำผิดหรือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการของจำเลยประการใดไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้ตามระเบียบการฉบับดังกล่าว แต่เมื่อเลิกจ้างแล้วจำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่จะต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46ซึ่งมีข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 46 วรรคสาม และข้อ 47(1) ถึง (6)กรณีของโจทก์มิได้ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยประการใดประการหนึ่งทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย
คำให้การจำเลยตอนแรกมีความหมายเป็นนัยว่า เมื่อโจทก์ออกจากงานได้รับเงินบำเหน็จเป็นจำนวนมากกว่าค่าชดเชยอยู่แล้ว เหตุใดจึงมาเรียกค่าชดเชยซึ่งเป็นจำนวนน้อยกว่าอยู่อีก ส่วนความในตอนหลังปฏิเสธที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะเกี่ยวด้วยด้านตัวโจทก์เองที่ฝ่าฝืนระเบียบของจำเลย อันต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ กำหนดไว้ ส่วนข้อที่เงินบำเหน็จซึ่งจำเลยจ่ายให้โจทก์รับไปแล้วเป็นเงินประเภทเดียวกับค่าชดเชยหรือไม่ โจทก์ฟ้องเรียกเงินประเภทเดียวซ้ำกันมาอีกหรือไม่ หามีในคำให้การประการใดไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเงินบำเหน็จที่โจทก์ได้รับไปแล้วเป็นเงินต่างประเภทกับค่าชดเชย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำให้การ ไม่เป็นเหตุที่จำเลยจะอุทธรณ์นอกประเด็นตามคำคู่ความได้และไม่เป็นการผูกพันที่ศาลฎีกาจะต้องรับวินิจฉัยตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางด้วยเหตุนี้
ข้อที่โจทก์ทวงถามแล้วหรือไม่ จำเลยมิได้ปฏิเสธให้เป็นประเด็นในคำให้การเพราะฉะนั้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพ.ศ. 2526 6,297 บาท ให้จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี พ.ศ. 2528จำนวน 10,820 บาท รวมเป็นเงิน 17,117 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share