แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยเข้าไปขุดลอกสระน้ำซึ่งอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์โดยเข้าใจว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ แม้จะไม่มีความผิดทางอาญา เนื่องจากขาดเจตนา แต่ขณะเกิดเหตุโจทก์ครอบครองทำประโยชน์อยู่ ทั้งโจทก์ได้ห้ามปรามและยังได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจมาห้ามปรามแล้ว จำเลยก็ยังไม่ยอมหยุดกระทำการสูบน้ำและขุดดินในสระน้ำ ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 7 เป็นลูกจ้างของกรมชลประทาน ได้ร่วมกระทำการกับจำเลยอื่นตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยเข้าใจว่าเป็นการช่วยเหลือวัด ถือได้ว่ากระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย แม้การกระทำของจำเลยที่ 7 ทำให้โจทก์เสียหายจำเลยที่ 7 ก็ได้รับนิรโทษกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 449 วรรคแรก จำเลยที่ 7 ไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินมีโฉนดของโจทก์ซึ่งครอบครองทำนาและบ่อเลี้ยงปลา ทำการขุดดินและสูบน้ำออกจากบ่อทำให้ปลาตาย ต้นไม้และดินเสียหายคิดเป็นเงิน 35,000 บาท จึงฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 359, 362, 365, 83, 33 ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 50,781.25 บาทและดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง
จำเลยทั้งเจ็ดให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์และเป็นที่ดินของวัดเขาแก้วบางส่วน กรรมการสภาตำบลเขาแก้ว และคณะกรรมการวัดเขาแก้วลงมติให้ร่วมกันพัฒนาหนองน้ำสาธารณะโดยจำเลยทั้งเจ็ดร่วมพัฒนาหนองน้ำแห่งนี้ด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 11,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งเจ็ดฎีกาว่าการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเกิดขึ้นโดยคำขอร้อง วัดเขาแก้วและสภาตำบลเขาแก้ว อันเป็นการกระทำในฐานะพลเมืองดีให้ความร่วมมือแก่ทางราชการ เมื่อศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดไม่มีเจตนาในการกระทำผิด จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งเจ็ดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่าสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ที่เบิกความรับว่าได้ร่วมพัฒนาขุดสระน้ำพิพาทตามที่สภาตำบลเขาแก้วและวัดเขาแก้วประชุมปรึกษารวมกันให้ขุดสระน้ำ ซึ่งต่างก็เข้าใจว่าเป็นของวัดเขาแก้ว แต่เมื่อโจทก์มาห้ามปรามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ก็มิได้หยุดกระทำ แม้โจทก์จะได้ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจแล้วจำเลยที่ 1ถึงที่ 6 ก็ไม่ยอมหยุด ซึ่งโจทก์ก็มีจ่าสิบตำรวจปริน พรมขลิบนิบและจ่าสิบตำรวจสมควร เฟื่องสังข์ มาเบิกความว่า ออกไปดูที่เกิดเหตุพบคนหลายคนมีจำเลยที่ 5 อยู่ด้วย ได้แจ้งให้จำเลยกับพวกหยุดสูบน้ำ แต่พวกจำเลยไม่เชื่อฟังและจำเลยทั้งหกก้ได้ให้การรับแล้วว่าสระน้ำพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ไม่ว่าที่พิพาทจะเป็นของโจทก์หรือไม่ก็ตาม แต่ขณะเกิดเหตุอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ และโจทก์ก็ได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ เมื่อยังไม่ได้มีการพิสูจน์ให้แน่ชัดว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ทั้งโจทก์ก็ได้ห้ามปรามและยังได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจมาห้ามปรามแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่ยอมหยุดกระทำการสูบน้ำและขุดดินในสระน้ำพิพาท ทำให้ทรัพย์สินที่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์อยู่ได้รับความเสียหาย ก็ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ต้องชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนจำเลยที่ 7 เป็นลูกจ้างของกรมชลประทานซึ่งเป็นส่วนราชการได้กระทำการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา โดยเข้าใจว่าเป็นการช่วยเหลือวัดเขาแก้ว ถือได้ว่ากระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย แม้การกระทำของจำเลยที่ 7 จะทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 7 ก็ได้รับนิรโทษกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 449 วรรคแรก จำเลยที่ 7 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ฎีกาของจำเลยที่ 7 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 7 ที่เกี่ยวกับคำขอทางแพ่งด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ