คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4501/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยพ.ร.ฎ. จัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ. 2520 การที่ได้มี พ.ร.ฎ.ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2528ใช้บังคับ ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยเลิกกิจการเพื่อสะสาง กิจการของจำเลยให้สิ้นสภาพจากการเป็นนิติบุคคลไปเท่านั้น มาตรา 4 แห่ง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวให้พึงถือว่าจำเลยยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นต้องชำระบัญชี หามีผลทำให้ลูกจ้างของลูกจ้างของจำเลยสิ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างไปในทันทีไม่ จำเลยจึงต้องบอกเลิกจ้างลูกจ้างและอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 582.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทุกคนโดยโจทก์ทุกคนไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งจำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยให้แก่โจทก์แต่ละคนบางส่วนแล้ว แต่ไม่ครบตามสิทธิที่โจทก์แต่ละคนควรได้รับตามกฎหมาย ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนที่ขาดให้แก่โจทก์แต่ละคน พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ทั้งนี้เฉพาะประเด็นเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าว่า โจทก์แต่ละคนไม่มีสิทธิฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เพราะกรณีไม่ใช่การเลิกจ้างแต่จำเลยสิ้นสุดสภาพนิติบุคคลตราพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2528 ขอให้โจทก์คืนเงินแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งในประเด็นนี้ว่า พระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2528 มาตรา 4ยังให้ถือว่าจำเลยคงมีสภาพบุคคลอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ขาดอยู่ให้แก่โจทก์แต่ละคนพร้อมด้วยดอกเบี้ย คำขออื่นและฟ้องแย้งให้ยก
โจทก์สำนวนคดีแรกและจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อที่สองว่า พระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2528 เป็นกฎหมายที่ทำให้กิจการของจำเลยสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย กรณีมิใช่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน และไม่จำเป็นที่จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ. 2520 การที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2528 ใช้บังคับ ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยเลิกกิจการเพื่อสะสางกิจการของจำเลยให้สิ้นสภาพจากการเป็นนิติบุคคลไปเท่านั้นดังจะเห็นได้จากมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ให้พึงถือว่าจำเลยยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นต้องชำระบัญชี หามีผลทำให้ลูกจ้างของจำเลยสิ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างไปในทันทีไม่จำเลยจึงต้องบอกเลิกจ้างลูกจ้าง และการที่จำเลยจะเลิกจ้างลูกจ้างก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582โดยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเช่นเดียวกัน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ และจำเลยไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินดังกล่าวคืนตามฟ้องแย้งนั้นเป็นการชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share