คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4064/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 นั้นจะต้องพิจารณาถึงสาเหตุอันเป็นมูลเลิกจ้างว่าเป็นสาเหตุที่สมควรหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ เพราะการจ่ายค่าชดเชยเป็นผลตามมาภายหลังการเลิกจ้าง
อ.แอบกระโดดขึ้นรถโดยสารที่โจทก์ขับและมีเงินค่าโดยสารไม่พอโจทก์จึงเรียกเก็บเพียงครึ่งราคาโดยไม่ได้มีเจตนาทุจริตหรือเจตนาทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลย การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยให้โจทก์ออกจากงานโดยกล่าวหาว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ ทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลย โดยโจทก์ไม่มีความผิดตามที่จำเลยกล่าวอ้าง เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานและชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง โดยรับผู้โดยสารที่ไม่มีค่าโดยสารไปกับรถจำเลยและได้เรียกเก็บเงินค่าโดยสารจากผู้โดยสาร แต่นำเงินไปซื้อตั๋วไม่ครบตามจำนวนที่เรียกเก็บ โดยมีเจตนาทุจริต การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงาน จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นางสาวอมรรัตน์ผู้โดยสารแอบกระโดดขึ้นรถ หาใช่โจทก์เจตนาจะรับผู้โดยสารที่ไม่มีตั๋วโดยสารไม่ นางสาวอมรรัตน์ว่าจะไปหาพี่ที่กรุงเทพแต่ไม่ได้เอาบัตรนักเรียนมา และมีเงินอยู่เพียง 50 บาท โจทก์จึงซื้อตั๋วในอัตราครึ่งราคาเป็นเงิน 35 บาท โจทก์ยังไม่มีเงินทอนจึงบอกให้นางสาวอมรรัตน์รอเอาคืนข้างหน้า โจทก์หาได้มีเจตนาเอาเงินทอนนั้นเป็นประโยชน์ส่วนตนไม่และได้มอบเงินนี้ให้นายตรวจโดยดี โจทก์จึงไม่มีเจตนาที่จะเก็บเงินไม่ครบ การกระทำของโจทก์จึงมิได้มีเจตนาทุจริตและทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลย การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่อัตราค่าจ้างเดิม และให้ใช้ค่าเสียหายตั้งแต่วันสั่งพักงานจนกว่าจะรับเข้าทำงาน และให้โจทก์คืนเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เนื่องจากการเลิกจ้างแก่จำเลยด้วย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 นั้น ศาลจะต้องพิจารณาถึงสาเหตุอันเป็นมูลให้มีการเลิกจ้างว่าเป็นสาเหตุที่สมควรหรือไม่ การไม่จ่ายค่าชดเชยมิใช่เป็นสาเหตุแห่งการเลิกจ้าง การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่ ไม่ได้อยู่ด้วยเหตุที่ว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง เพราะการไม่จ่ายค่าชดเชยนั้นเป็นผลที่ตามมาภายหลังการเลิกจ้างแล้วเท่านั้น สำหรับคดีนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง
พิพากษายืน.

Share