แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยต่างมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ในกองมรดกของ พ. แต่โจทก์จำเลยไม่สามารถแบ่งกันได้ การที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งยึดที่ดินที่พิพาทออกขายทอดตลาดเป็นกรณีร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์สินกันระหว่างโจทก์จำเลยผู้เป็นเจ้าของรวมตามป.พ.พ. มาตรา 1364 มิใช่เป็นการร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ.ทั้งนี้เพราะโจทก์ก็ดี จำเลยก็ดี หาใช่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดตามป.พ.พ. มาตรา 288.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างของนายพุ่ม ดิษบรรจง ผู้ตายให้โจทก์กึ่งหนึ่ง ถ้าแบ่งไม่ได้ให้ขายทอดตลาดแบ่งเงินกันตามส่วน ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน คดีถึงที่สุด โจทก์ดำเนินการบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดที่ดินกับสิ่งปลูกสร้าง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดและอายัด
โจทก์คัดค้านว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขัดทรัพย์ เพราะมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์และไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกของนายพุ่มดิษบรรจง
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ งดไต่สวน พิพากษายกคำร้องขัดทรัพย์
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์จำเลยพิพาทกันด้วยเรื่องการแบ่งมรดกของนายพุ่ม ซึ่งศาลพิพากษาให้แบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง ดังนั้น กองมรดกของนายพุ่ม จึงตกเป็นทรัพย์ซึ่งโจทก์จำเลยต่างมีกรรมสิทธิ์สำหรับที่ดินพิพาทนี้โจทก์จำเลยไม่สามารถแบ่งกันเองได้ กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 วรรคสองที่ว่า “ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไรไซร้เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดขอ ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่งถ้าส่วนที่แบ่งให้ไม่เท่ากันไซร้ จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ดี ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้”มาใช้บังคับ ดังนั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมฝ่ายหนึ่งขอให้ศาลมีคำสั่งยึกที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาด จึงเป็นการร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์จำเลยผู้เป็นเจ้าของรวมเท่านั้น โจทก์ก็ดี จำเลยก็ดี หาใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันและกันไม่ กรณีจึงมิใช่เป็นการร้องขอให้บังคับคดีตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2041/2525 ระหว่าง นางบาง ไข่พรมราช กับพวก โจทก์ นายกัน แสงสุขผู้ร้องขัดทรัพย์ นางทิม ไข่พรมราช ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแดง ไข่พรมราช จำเลย เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ในกรณีนี้ได้ จึงไม่จำต้องให้ผู้ร้องสืบพยานตามคำร้องของผู้ร้องต่อไปศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.