คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3681/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ไม้ของกลางของ ท. ซึ่งเป็นไม้ที่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายถูกส่งไปที่โรงงานของจำเลยซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปไม้เพื่อทำเป็นเครื่องเรือนสำเร็จรูปตามคำสั่งของ ท. จำเลยทำไม้แล้วส่งต่อไปยังบริษัท ม. จำกัด เพื่อบรรจุหีบห่อเมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าไม้ของกลางยังเป็นไม้แปรรูปไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ จำเลยส่งไม้ออกไปที่อื่นจึงเป็นการจำหน่ายหรือโอนออกไป เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดฉบับที่ 6(พ.ศ.2520)ข้อ 15 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484ว่าด้วยการควบคุมการแปรรูปไม้ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช2484 มาตรา 58,73 ทวิ และความผิดดังกล่าวโจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ และเขตควบคุมสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามตามมาตรา 47 และ53 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้เพื่อประดิษฐกรรมด้วยเครื่องจักรให้ประกอบสิ่งประดิษฐสำเร็จรูปคือทาเครื่องเรือนใช้ชื่อว่า ‘สีน้ำเงินการช่าง’ เมื่อระหว่างวันที่ 19 มกราคม 2523 ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2523 วันเวลาใดที่ไม่ปรากฏชัด จำเลยได้จำหน่ายและโอนไม้สักส่วนประกอบบ้านจำนวน 414 ชิ้น บานประตูไม้สักจำนวน 2 ชิ้น อันเป็นไม้สักแปรรูปจากโรงงานไปยังบริษัทบุญมามูฟอิงแอนด์สโตเรจ จำกัด เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ว่าด้วยการควบคุมการแปรรูปไม้ ลงวันที่ 7มกราคม 2520 ข้อ 15, 20 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช 2484 มาตรา 58, 73 ทวิ ที่แก้ไขแล้ว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช 2484ฯลฯ ที่แก้ไขแล้ว ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมไม้สักแปรรูปของกลางเป็นของนางทัศนีย์ เพชรแก้วกุล ซื้อจากห้างหุ้นส่วนจำกัดชลหลี เป็นไม้ที่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายห้างหุ้นส่วนจำกัดชลหลีออกหนังสือกำกับไม้ส่งไม้ไปอบที่บริษัทอุตสาหกรรมอบไม้อิมเปคโก จำกัด และบริษัทอุตสาหกรรมอบไม้อิมเปคโก จำกัด ออกหนังสือกำกับไม้ส่งไม้มาที่โรงงานของจำเลยตามคำสั่งของนางทัศนีย์เพื่อให้ทำตามแบบซึ่งอ้างว่าเป็นการทำหน้าต่าง บานเกล็ด บานประตู และคิ้ว ที่สามารถถอดเป็นชิ้นส่วน เป็นเครื่องเรือนสำเร็จรูปซึ่งจะนำไปประกอบที่ประเทศญี่ปุ่น จำเลยทำไม้แล้วส่งไปยังบริษัทบุญมามูฟอิงแอนด์สโตเรจจำกัด เพื่อทำการบรรจุหีบห่อโดยออกหนังสือกำกับไม้ไปว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ ต่อมาในวันที่ 19 มีนาคม 2523 ผู้เชี่ยวชาญศาลในทางพิสูจน์ไม้ได้ไปตรวจพิสูจน์แล้วปรากฏว่าเป็นไม้แปรรูปไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์มีปัญหาว่าการที่จำเลยส่งไม้ของกลางไปที่บริษัทบุญมามูฟอิงแอนด์สโตเรจ จำกัด จำเลยจะมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2520) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ว่าด้วยการควบคุมการแปรรูปไม้ ข้อ 15 อันจะเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าข้อกำหนดฉบับที่ 6(พ.ศ. 2520) ข้อ 15 ผู้รับอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้เพื่อประดิษฐกรรมด้วยเครื่องจักรจะจำหน่ายหรือโอนหรือนำออกจากโรงงานได้เฉพาะสิ่งที่ประกอบเป็นวัตถุประดิษฐ์หรือสิ่งประดิษฐ์สำเร็จรูปตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตและหลักฐานในการอนุญาตเท่านั้น เมื่อไม้ของกลางยังเป็นไม้แปรรูปอยู่ จำเลยส่งไม้ออกไปที่อื่นจึงเป็นการจำหน่ายหรือโอนออกไปจำเลยจึงต้องมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าว
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ และเขตควบคุมสิ่งประดิษฐ์เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม ตามมาตรา 47 และมาตรา 53 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า ความผิดที่จะต้องบรรยายฟ้องถึงเขตควบคุมการแปรรูปไม้ และเขตควบคุมสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามตามฎีกาของจำเลยนั้น จะต้องเป็นความผิดตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 19 หรือความผิดตามมาตรา 53 ตรี แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2518 มาตรา 21แล้วแต่กรณีแต่คดีนี้เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดอันเป็นความผิดตามมาตรา 58, 73 ทวิ โจทก์จึงไม่ต้องบรรยายฟ้องตามที่จำเลยฎีกามาแต่อย่างใด
พิพากษายืน.

Share