คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3560/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ.2526 โดยทั่วไปมิได้มีผลใช้บังคับย้อนหลัง แต่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2526 อันเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คงมีผลย้อนหลังเฉพาะกรณีตามมาตรา 9 ในเรื่องการให้รวมเงินพิเศษรายเดือนสำหรับการปราบปรามผู้กระทำความผิดเข้ากับเงินเดือนเดือนสุดท้ายเพื่อการคำนวณบำเหน็จบำนาญเท่านั้น
ตามบทบัญญัติมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(ฉบับที่14) พ.ศ2526 บุตรซึ่งมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับย่อมมีสิทธิเรียกร้องและฟ้องเรียกบำนาญพิเศษในฐานะทายาทผู้มีสิทธิเมื่อพระราชบัญญัตินี้ให้บังคับแล้ว
ขณะโจทก์เรียกร้องบำนาญพิเศษจากจำเลยและขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ.2526ใช้บังคับและโจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจ่าสิบตำรวจทวี เวชนุสิทธิ์ จดทะเบียนสมรสกับนางเรวดี มีบุตรร่วมกัน 1 คน ต่อมาจดทะเบียนหย่ากันแต่ยังอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาและมีบุตรด้วยกันอีก 1 คนคือโจทก์ จ่าสิบตำรวจทวีถูกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ยิงตายขณะปฏิบัติหน้าที่ บุตรจึงมีสิทธิได้รับเงินบำนาญพิเศษ นางเรวดีได้ยื่นคำร้องและศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางมีคำสั่งเมื่อ 16พฤศจิกายน 2529 ว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบตำรวจทวี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเฉลี่ยเงินบำนาญพิเศษเท่ากับบุตรคนอื่นของจ่าสิบตำรวจทวี คือ ได้รับคนละ 1,153.10 บาท นับแต่เดือนที่จ่าสิบตำรวจทวีถึงแก่กรรม นางเรวดีได้ติดต่อขอรับเงินบำนาญพิเศษจากกรมบัญชีกลางแล้วแต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธให้เหตุผลว่า โจทก์เป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบตำรวจทวี ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยจ่ายเงินบำนาญพิเศษให้แก่โจทก์เดือนละ 1,153.10 บาท จนกว่าโจทก์จะมีอายุ 25 ปีบริบูรณ์รวมทั้งขอรับสิทธิอื่นที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายด้วย
จำเลยให้การว่าผู้มีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษต้องเป็นทายาทในขณะที่จ่าสิบตำรวจทวีถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน2525 โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบตำรวจทวีเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2525 ซึ่งเป็นวันที่ศาลสั่ง สิทธิของโจทก์จึงเกิดขึ้นภายหลังจากที่จ่าสิบตำรวจทวีถึงแก่ความตาย ขณะที่จ่าสิบตำรวจทวีถึงแก่ความตายโจทก์ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายจึงไม่ใช่ทายาทตามกฎหมายของจ่าสิบตำรวจทวี โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ. 2494 ทั้งขณะที่จ่าสิบตำรวจทวีถึงแก่ความตายนั้นพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ. 2526 ยังไม่ใช้บังคับและพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติให้มีผลย้อนหลัง หากโจทก์มีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษจะต้องเฉลี่ยตามส่วนของบุตรซึ่งจะได้เพียงเดือนละ 790.20 บาท การที่จะได้รับถึงอายุ 25 ปีนั้น โจทก์จะต้องศึกษาอยู่ในชั้นเตรียมอุดมศึกษาหรืออุดมศึกษาหรือเทียบเท่า ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า จ่าสิบตำรวจทวีถึงแก่ความตายก่อนที่จะประกาศใช้พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ. 2526 ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางสั่งให้โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบตำรวจทวีก่อนที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับเช่นเดียวกัน หากโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับบำนาญพิเศษตามฟ้องก็จะมีสิทธิได้เดือนละ 790.20 บาท นอกจากนี้โจทก์ขอสละสิทธิในบำนาญพิเศษที่ทางราชการได้จ่ายให้แก่ทายาทไปแล้ว แต่ขอรับบำนาญพิเศษเป็นรายเดือนนับตั้งแต่เดือนถัดจากที่ศาลพิพากษาเป็นต้นไปเท่านั้น
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ. 2526 มาตรา 2 บัญญัติให้พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งปรากฏว่าพระราชบัญญัตินี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2526 ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษในฐานะบุตรตามนัยแห่งมาตรา4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 จึงต้องเป็นบุตร ซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2526 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ. 2526 ใช้บังคับ บุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงหาใช่ ‘ทายาทผู้มีสิทธิ’ ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ. 2526 ก็เพื่อให้รวมเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับการปราบปรามผู้กระทำผิดเข้ากับเงินเดือนสุดท้ายเพื่อการคำนวณบำเหน็จบำนาญ โดยให้มีผลให้บังคับย้อนหลังตั้งแต่วันประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. 2521 และสมควรให้บุตรที่ได้มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษและบำนาญตกทอดได้ กฎหมายฉบับดังกล่าวจึงมีความมุ่งหมายให้มีผลบังคับย้อนหลังไปถึงวันประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าได้มีคำพิพากษาของศาลว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบตำรวจทวีผู้ตาย ซึ่งมีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันตาย และภายหลังที่ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวใช้บังคับแล้ว โจทก์จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 4 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ. 2526 มาตรา4 พิพากษากลับให้จำเลยจ่ายเงินบำนาญพิเศษให้แก่โจทก์เดือนละ 790.20 บาท นับถัดจากเดือนที่ศาลพิพากษาเป็นต้นไปภายในกำหนดเวลาและเงื่อนไขของบทบัญญัติมาตรา 45 (1) แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาที่ว่าพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ. 2526 มีผลใช้บังคับย้อนหลังหรือไม่นั้น เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ได้ระบุไว้ที่หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัตินี้เองว่า’โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ให้รวมเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับการปราบปรามผู้กระทำความผิด (พ.ป.ผ.) เข้ากับเงินเดือนเดือนสุดท้าย เพื่อการคำนวณบำเหน็จบำนาญโดยให้มีผลใช้บังคับย้อนหลังตั้งแต่วันประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. 2521 และสมควรให้บุตรที่ได้มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษและบำเหน็จตกทอดได้ เพื่อให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ฉบับปัจจุบัน ฯลฯ’สำหรับมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัตินี้บัญญัติว่า ‘พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป’ ส่วนมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติเดียวกันนี้บัญญัติว่า ‘ในกรณีที่มีผู้ได้รับเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับการปราบปรามผู้กระทำความผิดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. 2521 อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้เงินเพิ่มพิเศษดังกล่าวมีผลใช้บังคับในการรวมเป็นเงินเดือนเดือนสุดท้ายตั้งแต่วันที่24 พฤศจิกายน 2521’ ดังนั้นเมื่ออ่านหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติกับมาตรา 2 และมาตรา 9 ประกอบกันแล้ว จะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัตินี้โดยทั่วไปมิได้มีผลใช้บังคับย้อนหลังแต่ประการใดแต่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2526เป็นต้นไป คงมีผลใช้บังคับย้อนหลังเฉพาะกรณีตามมาตรา 9ในเรื่องการให้รวมเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับการปราบปรามผู้กระทำความผิดเข้ากับเงินเดือนเดือนสุดท้าย เพื่อการคำนวณบำเหน็จบำนาญ ดังได้อธิบายไว้ที่หมายเหตุเท่านั้น
สำหรับมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้เพิ่มบทนิยามคำว่า ‘ทายาทผู้มีสิทธิ’ ให้หมายความว่า
(1) บุตรและให้หมายความรวมถึงบุตรซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งได้มีการฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรก่อนหรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่บิดาตายหรือนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของบิดา
(2) สามีหรือภริยา
(3) บิดาและมารดา
ตามบทบัญญัติดังกล่าวบุตรซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายหาได้หมายความว่าจะต้องมีคำพิพากษาของศาลเช่นนั้นตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2526 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไปจึงจะเป็นทายาทผู้มีสิทธิ ส่วนบุตรที่มีคำพิพากษาของศาลเช่นนั้นก่อนวันดังกล่าวมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิดังคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและฎีกาของจำเลยไม่ หากแปลความหมายเช่นนั้น คำว่า บุตรสามีหรือภริยา บิดาและมารดาในมาตราเดียวกันนี้ก็จะต้องตีความว่าหมายถึงบุตรที่เกิดเมื่อพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว สามีหรือภริยาที่สมรสกันเมื่อพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว และบิดามารดาซึ่งเริ่มเป็นบิดามารดาเมื่อพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินี้หาเป็นเช่นนั้นไม่ศาลฎีกาเห็นว่าสำหรับบุตรซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลเช่นนั้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ย่อมมีสิทธิเรียกร้องและฟ้องเรียกบำนาญพิเศษในฐานะทายาทผู้มีสิทธิเมื่อพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้วโดยที่ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหามีสิทธิเช่นนั้นไม่ สำหรับโจทก์ในคดีนี้ก็เช่นเดียวกันขณะโจทก์เรียกร้องบำนาญพิเศษจากจำเลย และขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้นั้น พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่14) พ.ศ. 2526 ใช้บังคับและโจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษกรณีเช่นนี้หาใช่เป็นกรณีที่กฎหมายมีผลใช้บังคับย้อนหลังดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยจ่ายบำนาญพิเศษแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ตามคำแถลงของโจทก์ที่ว่าโจทก์ขอรับบำนาญพิเศษเป็นรายเดือนนับแต่เดือนถัดจากที่ศาลพิพากษาเป็นต้นไปนั้น โจทก์หมายความว่านับแต่เดือนถัดจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเป็นต้นไป เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในเดือนสิงหาคม 2527 จึงหมายถึงนับแต่เดือนกันยายน 2527 เป็นต้นไปหาใช่หมายความว่านับถัดจากเดือนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่ ทั้งศาลอุทธรณ์ไม่ควรพิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามคำแถลงของโจทก์ดังกล่าวนั้นโจทก์หมายความว่านับแต่เดือนถัดจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาดังที่โจทก์ฎีกาเพราะโจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นย่อมมีเจตนาดังกล่าวจริง ส่วนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้นับถัดจากเดือนที่ศาลพิพากษาเป็นต้นไปนั้นไม่ชัดแจ้งว่าหมายถึงศาลใดศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ชัดเจนส่วนเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้น เห็นสมควรแก้ไขดังที่โจทก์ฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายบำนาญพิเศษให้แก่โจทก์นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2527 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share